ในหลวงทรงห่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในหลวงทรงห่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติ

10 สิงหาคม 2550 08:07 น.

ในหลวงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะข้าราชการ สังกัดกรมทรัพย์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดแผนที่ทรัพยากรธรณีวิทยา จุดเสี่ยงภัยธรรมชาติ เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย อธิบดีกรมทรัพย์เผย พระองค์ทรงห่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งสึนามิ ดินถล่ม รวมทั้งให้แก้ปัญหาดินเค็มในภาคอีสานด้วย

เมื่อเวลา 16.38 น. วันที่ 9 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมุดแผนที่ทรัพยากรธรณีประเทศไทย แผนที่แสดงจุดเกิดแผ่นดินไหวของโลก แผนที่มหาสมุทรอินเดีย และแผนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของเปลือกโลก เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลผลการสำรวจทางด้านธรณีและทรัพยากรธรณี มาจัดทำเป็นสมุดแผนที่ทรัพยากรธรณีประเทศไทย โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ ช่วยให้การทำแผนที่มีความถูกต้องและแม่นยำ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนที่รายสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านธรณีวิทยาทุกชนิด สำหรับใช้เป็นคลังข้อมูลและแผนที่ด้านธรณีวิทยาแห่งชาติ ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

ส่วนองค์ประกอบของแผ่นในสมุดแผนที่ ประกอบด้วย แผนที่ธรณีวิทยาของประเทศแสดงถึงโครงสร้างทางธรณีวิทยา แหล่งธรณีวิทยาอันควรอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวและแหล่งซากดึกดำบรรพ์ แผ่นที่ธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ แผนที่ทรัพยากรธรณี แสดงถึงพื้นที่แหล่งแร่ต่างๆ แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยจากแร่ธรรมชาติ แสดงถึงการแพร่กระจายของดินเค็ม สารหนูและตะกั่ว และแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ แผ่นดินไหว ดินถล่ม การเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง และเส้นทางหนีภัยคลื่นยักษ์สึนามิ

นายอภิชัย กล่าวภายหลังเข้าเฝ้าฯ ว่า ได้นำแผนที่ธรณีวิทยาที่ทำแล้วเสร็จเมื่อช่วงปลายปี 2548 ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้กรมทรัพยากรธรณี ดูแลเรื่องปัญหาดินเค็ม ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ทรงยกตัวอย่างการจัดการดินเปรี้ยว ที่พระองค์เคยแก้ปัญหามาแล้วในพื้นที่ภาคใต้ โดยทรงแนะให้ใช้แผนที่ การจัดทำแผนที่ พื้นที่เสี่ยงภัยด้านดินถล่ม รับสั่งปัญหาสึนามิ และทรงแนะให้กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/2007/08/10/a001_130620.php?news_id=130620

ข้อคิดเห็น

กรมทรัพย์สนองพระราชดำรัสสำรวจรอยเลื่อน 13 แห่ง

รอยเลื่อนในประเทศไทย

กรมทรัพยากรธรณี เร่งสำรวจรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย 3 แห่ง และดินเหลวใน กทม.รับสนองพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยในเรื่องของธรณีพิบัติ และความเป็นอยู่ของประชาชน คาดใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี คิดเป็นงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท

นายทศพร นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองธรณีสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการสำรวจลอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย 13 แห่ง และดินเหลวในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า สืบเนื่องจากกรมทรัพยากรธรณีได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าถวายสมุดแผนที่ทรัพยากรธรณีประเทศไทย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรง มีกระแสพระราชดำรัสห่วงใยในพสกนิกรไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กรมฯ น้อมรับพระราชดำรัสเร่งดำเนินการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังทั้ง 13 แห่ง และดินเหลวใน กทม.ที่มาของการรับรู้แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้อยู่เสมอ เพื่อหาวิธีการ มาตรการในการรับมือ ควบคุมการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

“โครงการสำรวจนี้ตามที่วางแผนไว้จะเริ่มในปี 2550 แต่ด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง และวัดแรงสั่นสะเทือนได้สูงขึ้น และเป็นการสนองพระราชดำรัสในเรื่องของธรณีพิบัติและความเป็นอยู่ของประชาชน ท่านอธิบดีได้สั่งการเร่งด่วนให้ดำเนินโครงการสำรวจลอยเลื่อนมีพลังในปีนี้เป็นต้นไป จะใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี คิดเป็นงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการสำรวจดินเหลวในเขต กทม.ก่อน โดยทำควบคู่ไปกับการสำรวจลอยเลื่อนอื่นไปด้วย” นายทศพร กล่าว

นายทศพร กล่าวอีกว่า ในการสำรวจและดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ นั้น ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของธรณีวิทยา วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ฯลฯ เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถชี้แจงให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะตามมาได้ ถึงความสำคัญในข้อกำหนดนั้นๆ ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด

7 กันยายน 2550 18:22 น.

"...เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะว่ามีสารคาร์บอน (คาร์บอนไดออกไซด์) ขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้น มีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น...สิ่งที่ทำให้คาร์บอนในอากาศเพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากการเผาเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไหม้..."

"...ที่ทำให้เกิดมาพูดเรื่องคาร์บอน เรื่องจะร้อน จะเย็น น้ำจะท่วมไม่ท่วม เพราะว่าถ้าเรามาศึกษาอย่างใจเย็น อย่างมีเหตุผลแล้ว ก็จะหาทางแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยก็ให้พยายามแก้ไข มันจะดีกว่าที่จะมาขัดแย้งกัน แล้วเมื่อขัดแย้งกัน ก็มักก่อเกิดปัญหาใหม่ คือปัญหาการเดินขบวนที การประท้วงที การจราจรวุ่นวายเป็นต้น แล้วก็ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบปวดหัว เลยไม่ต้องคิดแก้อะไร ต้องมาคิดแก้แต่สิ่งวุ่นวาย..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่4 ธันวาคม2532

เฉลิมเกียรติแสนวิเศษ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนและแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสไว้เมื่อ 18 ปีก่อน!

ในการบรรยายพิเศษเรื่อง"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน" นายเฉลิมเกียรติยังกล่าวถึงพระราชดำริที่พระราชทานเป็นแนวทางในการลดสภาวะโลกร้อน 9 ประการคือ 1.การอนุรักษ์ป่าไม้2.การปลูกป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจ3.การรักษาและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กขนาดกลาง และขนาดใหญ่ 4.การประกอบอาชีพยั่งยืน5.การป้องกันและบำบัดน้ำเสีย6.การบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ7.การใช้พลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงชีวภาพ 8.การแก้ปัญหาจราจรในกทม. และเมืองใหญ่ และ 9.การอุตสาหกรรมและการใช้เครื่องปรับอากาศที่สะอาด

อย่างไรก็ตามการลดสภาวะโลกร้อนตามแนวพระราชดำรินั้น ต้องมีการบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะเรื่อง "ดิน-น้ำ-ป่าไม้"ซึ่ง ดิน ใช้ทฤษฎีจัดการพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมทฤษฎีหญ้าแฝก และทฤษฎีแกล้งดิน ส่วน น้ำ ใช้ทฤษฎีกำจัดน้ำเสีย และ ป่าไม้ ใช้ทฤษฎีการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารและทฤษฎีป่าชายเลนและการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

ที่ผ่านมา...หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่างน้อมนำกระแสพระราชดำริมาปฏิบัติแล้ว เช่น กรมชลประทาน นำแนวพระราชดำริที่พระราชทานภายหลังสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2549 ที่เน้นการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงานแบบบูรณาการ

สามารถโชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแผนรับมือปัญหาน้ำท่วมว่า กำหนดไว้ 3 มาตรการ คือ การควบคุมน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ และการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด โดยการบริหารจัดการน้ำต้องประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีรายงานสถานการณ์น้ำผ่านโทรศัทพ์มือถือให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบ

ด้านกรมทรัพยากรธรณี ภายหลังการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมุดแผนที่ทรัพยากรธรณีประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องดินถล่ม การจัดการดินเค็ม ดินเปรี้ยวในพื้นที่ประเทศไทย และทรงเน้นการแก้ปัญหาเรื่องดินให้เกษตรกร โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันปฏิบัติงานแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสนพระทัยหลายเรื่อง และทรงห่วงโดยเฉพาะเรื่องดินถล่ม เรื่องปัญหาดินเค็มในภาคอีสาน ดินเปรี้ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น โดยทรงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ" อภิชัยชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าว

@@@@@@@@.

"...ทำไมคนไทยถึงชอบตัดต้นไม้นักซึ่งข้าพเจ้าสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่อายุน้อยๆ จนแก่จนบัดนี้ก็ยังไม่สำเร็จเลยก็พยายามพูดกับรัฐบาลทุกรัฐบาลเลยว่า ถ้านี่ต่อไปนี่ อันนี้เพิ่งอ่านพบว่าถ้าป่าเสื่อมสูญไปน้ำจืดที่เราจะมีกิน มีใช้ก็จะน้อยมาก ทางองค์การโลกเขาได้พยากรณ์ไว้ว่าอีกประมาณสัก20 ปีน้ำจืดนี่จะขาดแคลนอย่างมาก จะเป็นของที่หายากมากคือหนังสือที่ลงนี่ เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงของโลก ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าเป็นความจริง..." พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆพระราชทามพระวโรกาสให้คณะบุคคล เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 11 สิงหาคม2550

พระสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงกังวลพระราชหฤทัยและห่วงใยป่าไม้ของประเทศไทยที่เหลือน้อยลงทุกวัน ทำให้ทุกภาคส่วนของไทยทั้งรัฐบาลและเอกชน จึงเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า จึงได้มีการรณรงค์ปลูกป่าตามพระแสพระราชดำรัส เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นหลายโครงการ

เช่นโครงการ "9 ล้านกล้า 80 พรรษามหามงคล" โดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนร่วมกันปลูกต้นไม้ 9 ล้านต้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของไทยเพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะช่วยดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 225,000 ตันต่อปี ในช่วงระยะเวลา 40 ปี

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติว่าด้วยการ "ปลูกต้นไม้ใช้หนี้" โดยตั้งเป้าให้เกษตรกรปลูกป่าให้ได้10 ล้านไร่ภายใน5 ปี

"นายกรัฐมนตรี กำชับว่าทุกคนต้องให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน สภาวะความผันผวนทางอากาศหรือสภาวะโลกร้อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเรื่องนี้ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และช่วยเหลือเกษตรกรลดภาระหนี้สินได้ภายใน 10 ปี"ร.อ.น.พ.ยงยุทธมัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวจะมีการจัดตั้งกลุ่มระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน อย่างน้อย 3 หมู่บ้านและมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 คน ให้ผู้นำชุมชนเสนอโครงการมายังรัฐบาล และเรียนรู้การปลูกต้นไม้จากศูนย์เรียนรู้คืนชีวิตให้แผ่นดิน ปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกร ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณตำบลละ 4 แสนบาทนำร่อง 1,000 ตำบลก่อนตลอดระยะโครงการ 5 ปีจะสนับสนุนงบประมาณรวม 7,400 ตำบลทั่วประเทศจะช่วย 10 ล้านครอบครัวปลดหนี้แถมยังช่วยลดสภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกใบนี้อยู่

หากคนไทยทุกคนพร้อมใจกันน้อมนำกระแสพระราชดำรัสแนวทางลดปัญหาสภาวะโลกร้อนและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติอย่างจริงจัง...จะช่วยบรรเทาเรื่องร้ายๆ จากสภาวะโลกร้อนได้!

ที่มา http://www.komchadluek.net/2007/09/16/q010_134349.php?news_id=134349