ช่วยเเนะนำการฝึกจิตหน่อยครับ

ผมอายุ22ปี ตอบนี้กำลังฝึกนั่งสมาธิอยู่

 

เเต่จิตผมไม่ค่อบนิ่งเรย คอยจะคิดนู่นคิดนี่

 

มีเทคนิคอะไรให้ฝึกง่ายกว่านี้ไหมคับ

 

เเล้วนานไหมคับกว่าจะเข้าฌานได้

แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ
          
ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าประสงค์จะให้ได้อภิญญาหก ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง ๑๐  กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม  ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณ หรือโอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ  แต่ท่านที่มีความประสงค์จะเร่งรัดให้เข้าสู่ พระนิพพานเร็วๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้าหรืออัชฌาสัยไม่ ปรารถนารู้อะไรจุกจิก ชอบลัดตัดทางเพื่อถึงจุดหมายปลายทางขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้                                                                 ๑. สักกายทิฏฐิ เห็นตรงข้ามกับอารมณ์นี้ที่เห็นว่า ร่างกายคือขันธ์  ๕ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราเสียได้ โดยเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เพราะถ้าขันธ์ ๕ มีในเรา เรามีในขันธ์ ๕
หรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ จริงแล้ว ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บและการเปลี่ยนแปลง ขันธ์ ๕ ก็ต้องไม่มีการป่วยไข้และเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องการให้ขันธ์ ๕ สลายตัว ขันธ์ ๕ ถ้าเป็นของเราจริงก็ต้องดำรงอยู่ ไม่สลายตัว แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการ และพยายามเหนี่ยวรั้งด้วยวิธีการต่างๆ ขันธ์ ๕ ก็มิได้เป็นไปตามความปรารถนา ในที่สุดก็สลายตัวจนได้ เพราะขันธ์ ๕ เป็นสมบัติของกฎธรรมดา กฎธรรมดาต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกฎธรรมดา ฝ่าฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ เมื่อจิตยอมรับนับถือกฎธรรมดา ไม่หวั่นไหว
ในเมื่อร่างกายได้รับทุกข์เพราะป่วยไข้ หรือเพราะการงานหนักและอาการเกิดขึ้นเพราะเหตุเกินวิสัย อารมณ์ใจยอมรับนับถือว่า ธรรมดาของผู้ที่เกิดมาในโลกที่หาความแน่นอนไม่ได้ โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขจริงจังมิได้ ที่เห็นว่าเป็นสุขจากภาวะของโลก ก็เป็นความสุขที่มีผีสิง คือสุขไม่จริง เป็นความสุขอันเกิดจากเหยื่อล่อของความทุกข์ พอพบความสุขความทุกข์ก็ติดตามมาทันที เช่น มีความสุขจากการได้ทรัพย์ พร้อมกันนั้นความทุกข์เพราะการมีทรัพย์ก็เกิด เพราะทรัพย์ที่หามาได้นั้นจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องมีทุกข์ทันทีด้วยการคอยระวังรักษาไม่ให้สูญหายหรือทำลาย เมื่อทรัพย์นั้นเริ่มค่อย ๆ สลายตัวหรือสูญหายทำลายไป ทุกข์เกิดหนักขึ้นเพราะมีความ เสียดายในทรัพย์ แม้แต่ตัวเองก็แบกทุกข์เสียบรรยายไม่ไหว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องบำรุงความสุขได้จริงจัง ไม่ว่าอะไรก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของกฎธรรมดาสิ้น จิตเมื่อเห็นอย่างนี้ ความสงบระงับจากความหวั่นไหวของการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ไม่มีน้ำตาไหล ในเมื่อได้ข่าวญาติ
หรือคนที่รักตาย ไม่หนักใจเมื่อความตายกำลัง คืบคลานมาหาตน และพร้อมเสมอที่จะรอรับความตายที่จะเกิดแก่ตน ตามกฎของธรรมดา รู้อยู่ คิดอยู่ถึงความตายเป็นปกติ ยิ้มต่อความทุกข์และความตายอย่างไม่มีอะไรหนักใจ จิตมีอารมณ์อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ได้คุณสมบัติของพระโสดาบันไว้ได้หนึ่งอย่าง
๒. วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้นเที่ยงแท้มั่นคงว่าผลของการปฏิบัตินี้มีผลที่จะพ้นจาก              วัฏสังสารแห่งทุกข์ได้จริง                                                                                                                                                                             ๓. สีลัพพตปรามาส  ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่ยอมให้ศีลบกพร่อง เมื่อมีคุณสมบัติครบสามประการดังนี้ ท่านก็เป็นพระโสดาบัน                                                                                                                                                        องค์ของพระโสดาบัน  
          
เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาตัวเอง ขอบอกองค์ของพระโสดาบันไว้ เพราะรู้ไว้เป็นคู่มือพิจารณาตัวเอง
         
๑. รักษาศีล ๕ เป็นปกติ  ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต
         
๒. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด  ไม่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย  แม้แต่จะพูดเล่นๆ ก็ไม่พูด
         
๓. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจากพระนิพพาน พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์สามประการดังกล่าวมานี้  ถ้าท่านได้  ท่านเป็นพระโสดา ท่านก็จะเห็นว่าอาการที่กล่าวมานี้เป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนัก  แต่ถ้าอารมณ์อะไรตอนใดในสามอย่างนี้ยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าเพ่อคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบันเสียก่อน สำเร็จ จะเป็นผลร้ายแก่ตัวท่านเอง ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วถึงแล้ว ก็ควรก้าวต่อไปอย่าหยุดยั้งเพียงนี้  เพราะ มรรคผลเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก                                                                                                    (จบกสิณ ๑๐)

                อสุภกรรมฐาน
          
อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน  แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน รวมความแล้วได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า  ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน                     กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน
          
อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถจะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้  เพราะเป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์ด้านพิจารณามากกว่า การเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ  จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณมาก  นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนทรงปฐมฌานได้ดีแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์ วิปัสสนาญาณได้อย่างไม่ยากนัก สำหรับอสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัด ราคจริตเหมือนกันทั้ง ๑๐ กอง คือค้นคว้าหาความจริงจากวัตถุที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่นิยมชมชอบ กันว่าสวยสดงดงามที่บรรดามวลชนทั้งหลายพากันมัวเมา หลงไหลใฝ่ฝันว่าสวยสดงดงามจนเป็นเหตุ ให้เกิดภยันตรายแก่ตน ลืมชีวิตความเป็นอยู่ของตน มอบหมายความรักความปรารถนาให้แก่วัตถุที่ตนหลงรัก เป็นการประพฤติที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง เป็นเหตุของความทุกข์ที่ไม่รู้จักจบสิ้นกรรมฐานนี้จะค้นคว้าหาความจริงจากสรรพวัสดุต่างๆ ที่เห็นว่าสวยสดงดงามเอามาตีแผ่ให้เห็นเหตุเห็นผลว่า สิ่งที่สัตว์และคนหลงไหลใฝ่ฝันนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม เป็นของน่าเกลียดโสโครกทั้งสิ้น กรรมฐานในหมวดอสุภกรรมฐานมีความหมายในรูปนี้ จึงเป็นกรรมฐานที่ระงับดับอารมณ์ที่ใคร่อยู่ในกามารมณ์เสียได้ ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ  จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลไม่ยากนักเพราะพระอนาคามีผลเป็นพระอริยบุคคลที่มีความสงบ ระงับดับความรู้สึกในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ท่านที่เจริญกรรมฐาน หมวดอสุภนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นในการเจริญฌานด้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามารมณ์ ฉะนั้น นักปฏิบัติกรรมฐานที่มีความชำนาญในอสุภกรรมฐานจึงเป็นของง่ายในการเจริญวิปัสสนาญาณ  เพื่อให้บรรลุ
เป็น อนาคามีผลและอรหัตตผล                                                                                                                                                                                                                                                       อสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง
         
อสุภกรรมฐาน ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ
         
๑. อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายขึ้นบวม พองไปด้วยลม ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง
         
๒. วินิลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุมไว้ อาศัยที่ร่างกายของผู้ตายส่วนใหญ่ก็ปกคลุมด้วยผ้า ฉะนั้น  สีเขียวตามร่างกายของผู้ตายจึงมีสีเขียวมาก ท่านจึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว
         
๓. วิปุพพกอสุภ  เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
         
๔. วิฉิททกอสุภ  คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาดออกจากกัน
         
๕. วิกขายิตกอสุภ  เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
         
๖. วิกขิตตกอสุภ  เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจายมีมือ แขน ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไป
         
๗. หตวิกขิตตกอสุภ  คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
          
๘. โลหิตกอสุภ  คือซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
          
๙. ปุฬุวกอสุภ  คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
          
๑๐. อัฏฐิกอสุภ  คือซากศพที่มีแต่กระดูก  

   อสุภกรรมฐานนี้ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เจ้า ได้พรรณนาไว้ในวิสุทธิมรรครวมเป็นอสุภที่มีอาการ ๑๐ อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว

 การพิจารณาอสุภ
          
การพิจารณาอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านสอนให้พิจารณาเพื่อถือเอานิมิตโดยอาการ ๖ อย่างดังต่อไปนี้
         
๑.  พิจารณาโดยสี  คือให้กำหนดว่า ซากศพนี้เป็นร่างกายของคนดำหรือคนขาวหรือเป็น ร่างกายของคนที่มีผิวด่างพร้อย  คือผิวไม่เกลี้ยงเกลา
         
๒.  พิจารณาโดยเพศ อย่ากำหนดว่า ร่างกายนี้เป็นหญิงหรือชาย  พึงพิจารณาว่าซากศพ นี้เป็นร่างกายของคนที่มีอายุน้อย มีอายุกลางคน หรือเป็นคนแก่
         
๓.  กำหนดพิจารณาโดยสัณฐาน  คือกำหนดพิจารณาว่า นี่เป็นคอ เป็นศีรษะ เป็นท้อง เป็นเอว เป็นขา เป็นเท้า เป็นแขน เป็นมือ ดังนี้เป็นต้น
         
๔.  กำหนดโดยทิศ  ทิศนี้ท่านหมายเอาสองทิศ คือ ทิศเบื้องบน  ได้แก่ทางด้านศีรษะ ทิศเบื้องต่ำ ได้แก่ทางด้านปลายเท้าของซากศพ ท่านมิได้หมายถึงทิศเหนือทิศใต้ตามที่นิยมกันท่านให้สังเกตว่า ที่เห็นอยู่นั้นเป็นทางศีรษะ หรือด้านปลายเท้า
         
๕.  กำหนดพิจารณาโดยที่ตั้ง  ท่านให้พิจารณากำหนดจดจำว่า ซากศพนี้ศีรษะวางอยู่ที่ตรงนี้ มือวางอยู่ตรงนี้ เท้าวางอยู่ตรงนี้ ตัวเราเอง เวลาที่พิจารณาอสุภนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้
         
๖.  กำหนดพิจารณาโดยกำหนดรู้ หมายถึงการกำหนดรู้ว่า ร่างกายสัตว์และมนุษย์นี้ มีอาการ ๓๒ เป็นที่สุด ไม่มีอะไรสวยสดงดงามจริงตามที่ชาวโลกผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสหลงใหล ใฝ่ฝันอยู่ ความจริงแล้วก็เป็นของน่าเกลียดโสโครก มีกลิ่นเหม็นคุ้งมีสภาพขึ้นอืดพอง มีน้ำเลือดน้ำหนองเต็มร่างกาย หาอะไรที่จะพอพิสูจน์ได้ว่า น่ารักน่าชมไม่มีเลย สภาพของ ร่างกายที่พอจะ
มองเห็นว่าสวยสดงดงามพอที่จะอวดได้ก็มีนิดเดียว คือ หนังกำพร้าที่ปกปิด อวัยวะภายในทำให้มองไม่เห็นสิ่งโสโครก คือ น้ำเลือด น้ำหนอง ดี เสลด ไขมัน  อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ปรากฏอยู่ภายในแต่ทว่าหนังกำพร้านั้นใช่ว่าจะสวยสดงดงามจริงเสมอไปก็หาไม่ ถ้าไม่คอยขัดถูแล้ว ไม่นานเท่าใดคือไม่เกินสองวันที่ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หนังที่สดใส ก็กลายเป็นสิ่งโสโครก เหม็นสาบเหม็นสาง ตัวเองก็รังเกียจตัวเอง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็เอาดีไม่ได้ พอตายแล้วยิ่งโสโครกใหญ่ร่างกาย
ที่เคยผ่องใส  ก็กลายเป็นซากศพที่ขึ้นอืดพอง  น้ำเหลืองไหลมีกลิ่นเหม็นตลบไปทั่วบริเวณคนที่เคยรักกันปานจะกลืน พอสิ้นลมปราณลงไปในทันทีก็พลันเกลียดกัน  แม้แต่จะเอามือเข้าไปแตะต้องก็ไม่ต้องการ  บางรายแม้แต่จะมองก็ไม่อยากมอง มีความรังเกียจซากศพ ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่ออยู่รักและหวงแหน จะไปสังคมสมาคมคบหา สมาคมกับใครอื่นไม่ได้ ทราบเข้าเมื่อไรเป็น
มีเรื่อง แต่พอตายจากกันวันเดียวก็มองเห็นคนที่แสนรักกลายเป็นศัตรูกัน กลัววิญญาณคนตายจะมาหลอกมาหลอน เกรงคนที่แสนรักจะมาทำอันตราย ความเลวร้ายของสังขารร่างกายเป็นอย่างนี้ เมื่อพิจารณากำหนดทราบร่างกายของซากศพทั้งหลายที่พิจารณาเห็นแล้วก็น้อมนึกถึงสิ่งที่ตนรัก คือคนที่รัก ที่ปรารถนา ที่เราเห็น ว่าเขาสวยเขางาม  เอาความจริงจากซากอสุภ
เข้าไปเปรียบเทียบดู พิจารณาว่า คนที่เรารักแสนรัก ที่เห็นว่าเขาสวยสดงดงามนั้นเขากับซากศพนี้มีอะไรแตกต่างกันบ้าง เดิมซากศพนี้ก็มีชีวิตเหมือนเขา พูดได้  เดินได้ ทำงานได้ แสดงความรักได้ เอาอกเอาใจได้ แต่งตัวให้สวยสดงดงามได้  ทำอะไร ๆ ได้ทุกอย่างตามที่ คนรักของเราทำ แต่บัดนี้เขาเป็นอย่างนี้ คนรักของเราก็เป็นอย่างเขา เราจะมานั่งหลอกตนเอง
ว่าเขาสวย  เขางาม  น่ารัก  น่าปรารถนาอยู่เพื่อเหตุใด  แม้แต่ตัวเราเอง  สิ่งที่เรามัวเมากาย เมาชีวิต  หลงใหลว่า  ร่างกายเราสวยสดงามวิไล ไม่ว่าอะไรน่ารักน่าชมไปหมด ผิวที่เต็มไปด้วย เหงื่อไคล  เราก็เอาน้ำมาล้าง เอาสบู่มาฟอก นำแป้งมาทา เอาน้ำหอมมาพรมแล้วก็เอาผ้าที่เต็มไป ด้วยสีมาหุ้มห่อเอาวัตถุมีสีต่างๆ มาห้อยมาคล้องมองดูคล้ายบ้าหอบฟางแล้วก็ชมตัวเองว่าสวยสด
งดงามลืมคิดถึงสภาพความเป็นจริง ที่เราเองก็หอบเอาความโสโครกเข้าไว้พอแรงเราเองเรารู้ว่า ในกายเราสะอาดหรือสกปรก  ปากเราที่ชมว่าปากสวย  ในปากเต็มไปด้วยเสลดน้ำลาย น้ำลายของ เราเองเมื่ออยู่ในปากอมได้ กลืนได้ แต่พอบ้วนออกมาแล้ว กลับรังเกียจไม่กล้าแม้แต่จะเอามือแตะ นี่เป็นสิ่งสกปรกที่เรามีหนึ่งอย่างละ ต่อไปก็อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำเหลือง ที่หลั่งไหลอยู่ในร่างกาย พอไหลออกมานอกกายเราก็รังเกียจทั้ง ๆ ที่เป็นตัวของเราเอง  นี้ก็เป็นสิ่งโสโครกที่เป็นสมบัติของเรา   เองอีกน้ำเลือด น้ำเหลือง ของซากศพที่เรามองเห็นนั้น ซากศพนั้นมีสภาพอย่างไร เมื่อตาย ไปแล้วจากความเป็นคนหรือสัตว์    เราเรียกกันว่าผีตาย เขามีสภาพอย่างไร คือตายแล้วมีน้ำเลือดน้ำเหลืองหลั่งไหลออกจากร่างกายฉันใด เราแม้ยังไม่ตาย สิ่งเหล่านั้นก็มีครบแล้ว คนที่เราคิดว่าสวยสดงดงามตามที่นิยมกัน ก็เต็มไปด้วยความโสโครกที่น่ารังเกียจเหมือนกัน เอาอะไร มาเป็นของน่ารักน่าปรารถนา เรารักคนก็มีสภาพเท่ารักศพ ศพนี้น่าเกลียดน่าชังเพียงใด คนรักที่เรารัก ก็มีสภาพอย่างนั้น  พยายามพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นติดอกติดใจจนกระทั่งเห็นสภาพของผู้ใด ก็ตามที่เขานิยมกันว่า น่ารัก น่าชมนั้น เห็นแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นซากศพทันที มีความรังเกียจ สะอิดสะเอียนขึ้นมาทันทีทันใด เห็นคนหรือสัตว์มีสภาพเป็นซากศพไปหมด เต็มไปด้วยความ
รังเกียจที่จะสัมผัสถูกต้อง  รังเกียจที่จะคิดว่าน่ารักน่าเอ็นดู  เพราะความสวยสดงดงามเห็นผิว ภายนอกก็มองเห็นภายใน คือเห็นเป็นสภาพถุงน้ำเลือด น้ำหนอง ถุงอุจจาระปัสสาวะที่เคลื่อนที่ได้ พูดด้วยสนทนาด้วย ก็เห็นสภาพผู้ที่พูดจาสนทนาด้วย เป็นถุงอุจจาระปัสสาวะ และถุงน้ำเลือดน้ำหนองมาพูดคุยด้วย คิดว่าขณะนี้มีสภาพเป็นถุงน้ำเลือดน้ำหนอง มาสนทนาปราศรัยกับเรา
ต่อไปเขาก็จะกลายเป็นซากศพที่มีร่างกายอืดพอง น้ำเหลืองไหล ต่อไปกายก็จะขาดจากกันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่  สัตว์จะกัดกิน และในที่สุด ก็จะเหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไปเขานี่เป็นผีตายชัดๆ  เราก็เช่นเดียวกัน  เขามีสภาพเช่นไร เราก็มีสภาพเช่นนั้น กายนี้ล้วนแต่เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สะสมของโสโครกแล้ว แต่ถ้า
จะยังยืนคู่ฟ้าคู่ดินก็พอที่จะทนรักทนชอบได้บ้าง แต่นี่เปล่าเลยท่านหลงว่าสวยสดงดงามนั้นก็เป็นสิ่งหลอกลวง  เต็มไปด้วยความโสโครกเท่านั้นยังไม่พอ  กลับหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้อีก ดิ้นรนกลับกลอกทรุดโทรมลงทุกวันทุกเวลาเคลื่อนเข้าไปหาความแก่ทุกวันทุกนาที ยิ่งมากวันความเสื่อมโทรมของร่างกายก็ทวีมากขึ้น จากความเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาเป็นคนหนุ่ม
คนสาว จากความเป็นคนหนุ่มคนสาวมาเป็นคนแก่ การเคลื่อนไปนั้นมิใช่เคลื่อนเปล่า ยังนำเอาโรคภัยไข้เจ็บมาทับถมให้ไม่เว้นแต่ละวัน ปวดที่โน่น ปวดที่นี่ โรคแน่น โรคจุกเสียด ปวดร้าว มีตลอดเวลา อวัยวะที่เคยใช้คล่องแคล่วสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยกำลัง ก็ง่อนแง่นคลอนแคลน กำลังวังชาหมดไป ทำอะไรไม่ได้สะดวก หูก็หนัก ตาก็ฟาง ได้ยินเห็นอะไรไม่ถนัดเต็มไปด้วยความ
ทุกข์ จะห้ามปรามรักษาด้วยหมอวิเศษ ท่านใดก็ไม่สามารถจะยับยั้งความเคลื่อนความทรุดโทรมนี้ได้ ในที่สุดก็พังทลายกลายเป็นซากศพที่ชาวโลกรังเกียจอย่างนี้  อัตภาพนี้เป็นสภาพโสโครกอย่างนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกขัง ความทุกข์อันเกิดแต่ความเคลื่อนไหวไปหาความเสื่อมอย่างนี้  เป็นอนัตตา เพราะเราจะบังคับบัญชาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไปไม่ได้  ต้องเป็นไปตาม
กฎธรรมดา พิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์อันเกิดแต่ร่างกาย  เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเองและร่างกายของผู้อื่น  เห็นสภาพร่างกายของตนเองและของผู้อื่นเป็นซากศพ  หมดความพิสมัยรักใคร่ โดยเห็นว่าไม่มีอะไรสวยงาม  เห็นเมื่อไรเบื่อหน่ายหมดความพอใจเมื่อนั้น  เห็นคนมีสภาพเป็นศพทุกขณะที่เห็นอย่างนี้ท่านเรียกว่าได้อสุภกรรมฐานในส่วนของ           สมถภาวนา เห็นร่างกายเป็นซากศพ เบื่อหน่ายในร่างกาย และเห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง  สกปรกโสมมแล้วยังหาความแน่นอนไม่ได้อีก  เคลื่อนไปหาความแก่ตายทุกวันเวลาขณะที่เคลื่อนไปก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะต้องได้รับทุกข์จากโรค  รับทุกข์จากการบริหารร่างกาย มีการประกอบการงานเป็นต้น  ทุกข์เพราะมีลาภแล้วลาภหมดไป มียศแล้ว ยศสิ้นไป
มีสุขแล้วก็มีทุกข์มาทับถม เดี๋ยวมีคำสรรเสริญมาป้อยอ  แต่ก็ไม่นานก็ถูกนินทา เป็นเหตุให้ใจเป็นทุกข์  ทุกข์เพราะความเสื่อมโทรมของร่างกายมีอวัยวะทุพพลภาพ หูหนัก ตาฟาง ฟันหัก  ร่างกายร่วงโรย  ความจำเสื่อม  ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนของความทุกข์ทั้งสิ้น  เห็นร่างกายเป็นทุกข์แล้ว  ก็เห็นความดื้อด้านของสังขารร่างกายที่บังคับบัญชาไม่ได้ คือเห็นว่าความเสื่อมโทรมอย่างนี้เราไม่ต้องการ  ก็บังคับไม่ได้  ไม่ต้องการให้ปวดเจ็บเมื่อยล้าแต่มันก็จะเป็น ไม่มีใครห้ามได้ ไม่ต้องการให้ระบบประสาทเสื่อมมันก็จะเสื่อม ใครก็ห้ามไม่ได้ไม่ต้องการตาย มันก็ต้องตาย ไม่มีใครห้ามได้  สิ่งที่ห้ามไม่ได้นี้                                                          ท่านเรียกว่า อนัตตา แปลว่า : เป็นสิ่งเหลือวิสัยที่จะบังคับ :                                                                                                                ที่ท่านแปล อนัตตาว่า : ไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นตัวตนของเรา :
จริงแล้ว เราก็บังคับได้  ถ้าบังคับไม่ได้ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราแน่ อารมณ์ที่เห็นว่า  ร่างกายนอกจากจะโสโครกน่าสะอิดสะเอียนเป็นซากศพแล้ว ยังไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายในการทรงสังขารร่างกาย เบื่อที่จะเกิดต่อไป เพราะถ้าเกิดมีร่างกายในภพใด  ร่างกายก็จะมีสภาพโสโครกสกปรกเป็นซากศพและไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้อย่างนี้อีก

ความเบื่อหน่ายในร่างกาย เบื่อในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ ถ้าท่านคิดใคร่ครวญในรูปสมถะให้เห็นซากศพอยู่เสมอ และใคร่ ครวญหากฎธรรมดาควบคู่กันไป คือ เมื่อเกิดความทุกข์อันเกิดแต่การป่วยไข้  หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจหรือความแก่เฒ่าเข้ารบกวน ท่านก็วางใจเฉยเสียไม่ดิ้นรนกระเสือกกระสน โดยคิดว่านี่เป็นเรื่องของธรรมดาเกิดมามันก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย  มีลาภแล้วลาภมันก็เสื่อมได้ มียศแล้วยศมันก็สิ้นได้ มีสุขแล้วทุกข์มันก็มีได้ มีคนสรรเสริญแล้วคนนินทาก็มีได้ เกิดแล้วก็ต้องตายได้
ทุกอย่างมันธรรมดาแท้ๆ  จนจิตชินต่ออารมณ์ มีอะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกว่าเป็นปกติ ไม่ดิ้นรนหวั่นไหวอย่างนี้ ท่านเรียกว่าได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้ความเป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว หมั่นคิดนึกไปเสมอ ๆ ถึงร่างกายที่มี สภาพเป็นซากศพร่างกายที่ไม่มีอะไรแน่นอนจนจิตคิดเป็นปกติว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย มีจิตใจศรัทธาเชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จิตว่างจากกรรมชั่วครู่ คือรักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ  มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ  คือ ใคร่ครวญปรารถนาแต่พระนิพพานไม่ต้องการความเกิดต่อไปอีก อย่างนี้ท่านว่าทรงคุณได้ในระดับพระโสดาบัน  ฉะนั้น ขอให้นักปฏิบัติที่ปฏิบัติในอสุภกรรมฐาน จงอุตส่าห์พยายามกำหนดพิจารณาให้
ขึ้นใจจนได้ปฏิภาคนิมิตในที่สุด  แล้วรักษานิมิตนั้นไว้อย่าให้เสื่อม  ต่อไปก็ยกเอานิมิตนั้นขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ภายในไม่ช้าเลย  การพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่า  พิจารณากำหนดรู้  
นิมิตในอสุภกรรมฐาน         
          
อสุภกรรมฐานก็มีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดในการเข้าถึงเหมือนกสิณ แต่ต่างจากกสิณตรงที่เอารูปซากศพเป็นนิมิต ไม่ยกเอาธาตุหรือสีภายนอกเป็นนิมิต  นิมิตในอสุภนี้ก็มีเป็นสองระดับเหมือนกัน คือ
          
๑.  อุคคหนิมิต ได้แก่  นิมิตติดตา คือ รูปเดิมที่กำหนดจดจำไว้ และ
          
๒. ปฏิภาคนิมิตได้แก่ นิมิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ รูปต่างจากภาพเดิมดังจะได้ยกมาเขียนไว้ดังต่อไปนี้
๑.  อุทธุมาตกอสุภ         
          
อสุภที่มีร่างกายขึ้นอืดพอง  อสุภนี้เมื่อเริ่มปฏิบัติ  เมื่อเห็นภาพอสุภที่เป็นนิมิต ท่านให้กำหนดรูปแล้วภาวนา " อุทธุมาตะกัง ปะฏิกุลัง " ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป เมื่อเพ่งพิจารณา จนจำรูปได้ชัดเจนแล้ว ให้หลับตาภาวนาพร้อมด้วยกำหนดจดจำรูปไปด้วยตามที่กล่าวไว้แล้วใน กสิณ จนรูปอสุภนั้นติดตาติดใจ จะนึกเมื่อไรก็เห็นภาพนั้นได้ทันที ภาพนั้นเกิดขึ้นแก่จิต คือ อยู่ใน
ความทรงจำ ไม่ใช่ภาพลอยมาให้เห็นเหมือนภาพที่ลอยในอากาศ เกิดจากการกำหนดรู้โดยเฉพาะเมื่อภาพนั้นติดใจจนชินตามที่กำหนดจดจำไว้ได้แล้ว ท่านเรียกว่า " อุคคหนิมิต " แปลว่า นิมิตติดตา  
          
สำหรับปฏิภาคนิมิตนี้  รูปที่ปรากฏนั้นผิดไปจากเดิม  คือรูปเปลี่ยนไปเสมือนคนอ้วนพีผ่องใสผิวสดสวย อารมณ์จิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึง อัปปนาสมาธิ ได้ปฐมฌาน   
ปฏิภาคนิมิตกำจัดนิวรณ์ ๕             
          
นิวรณ์  ๕  ก็คือ  กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธิ  อุทธัจจกุกกุจจะ  วิจิกิจฉา ตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เมื่อท่านนักปฏิบัติทรงสมาธิได้ถึง อัปปนาสมาธิ  มีนิมิตเข้าถึงปฏิภาค คือเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการก็ระงับไปเอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนว่าด้วยฌาน                                                                                                                                                                                ๒. วินีลกอสุภ
          
อสุภนี้ ปกติพิจารณาสี มีสีแดง สีเขียว สีขาวปนกัน เมื่อขณะกำหนดภาวนาว่า "วินีละกัง ปะฏิกุลัง" จนภาพนิมิตที่มีสี แดง ขาว เขียว เกิดติดตาติดใจคละกันอย่างนี้ท่านเรียกว่า  อุคคหนิมิต ต่อไปถ้าปรากฏว่าในจำนวนสีสามสีนั้น  สีใดสีหนึ่งแผ่ปกคลุมสีอีกสองสีนั้นจนหนาทึบ ปิดบังสีอื่นหมดแล้วทรงสภาพอยู่ได้นาน ท่านเรียกนิมิตอย่างนี้ว่า ปฏิภาคนิมิต ทางสมาธิเรียกว่า
อัปปนาสมาธิ ทางฌานเรียกว่า  ปฐมฌาน

๓. วิปุพพกอสุภ
         
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาน้ำเหลืองน้ำหนองเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า " วิปุพพะกัง ปะฏิกุลัง" จนเกิดอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอสุภนี้มีลักษณะดังนี้ ปรากฏเห็นเป็นน้ำหนองไหลอยู่เป็นปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีสภาพเป็นนิมิตตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่มีอาการไหลออกเหมือนอุคคหนิมิต
๔. วิฉิททกอสุภ
         
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ขณะพิจารณา ให้ท่านภาวนาว่า                              " วิฉิททะกัง ปะฏิกุลัง "  สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ท่านว่ามีรูปซากศพขาด เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่  ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปเป็นบริบูรณ์ เสมือนมีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์
๕. วิกขายิตกอสุภ
         
อสุภนี้  ท่านให้พิจารณาอสุภที่ถูกสัตว์กัดกินเป็นซากศพที่แหว่งเว้าทั้งด้านหน้าหลัง และในฐานต่างๆ  ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า " วิกขายิตตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน  ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นรูปซากศพที่มีร่างกายบริบูรณ์
๖. วิกขิตตกอสุภ
         
วิกขิตตกอสุภนี้ ท่านให้รวบรวมเอาซากศพที่กระจัดกระจายพลัดพรากกันในป่าช้ามาวางรวมเข้าแล้วพิจารณา ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " วิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปเป็นอสุภนั้นตามที่นำมาวางไว้ วางไว้มีรูปอย่างไร อุคคหนิมิต ก็มีรูปร่างอย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปมีร่างกายบริบูรณ์ไม่บกพร่อง จะได้มีช่องว่าง
ก็หามิได้
๗. หตวิกขิตตกอสุภ
         
ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนๆ  แล้วเอามาวางห่างกันท่อนละ ๑ นิ้ว แล้วเพ่งพิจารณา ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่า " หะตะวิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับนิมิตคืออุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นปากแผลที่ถูกสับฟัน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์ จะปรากฏริ้วรอยที่ถูกสับฟันนั้นหามิได้
๘. โลหิตกอสุภ
         
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกประหาร มีมือเท้าขาดเลือดไหล ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่า  "โลหิตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเหมือนผ้าแดงที่ถูกลมปลิวไสวอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นสีแดงนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหว
๙. ปุฬุวกอสุภ
         
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ตายมาแล้วสองสามวัน มีหนอนคลานอยู่บนซากศพนั้น ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า   " ปุฬุวะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตใน อสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ แต่สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นภาพนิ่งคล้ายกองสำลีที่กองอยู่เป็นปกติ
๑๐. อัฏฐิกอสุภ
         
อัฏฐิกอสุภนี้  ท่านให้เอากระดูกของซากศพเท่าที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มี เนื้อ เลือด เส้น  เอ็น  รัดรึงอยู่ก็ตาม  หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วนของร่างกายมีเพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม เอามาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " อัฏฐิกัง ปะฏิกุลัง "  สำหรับอุคคหนิมิตในอัฏฐิกอสุภนี้  จะมีรูปเป็นกระดูกเคลื่อนไหวไปมา
 
สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น จะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ  

(จบนิมิตในอสุภ ๑๐ อย่างเพียงเท่านี้)

การพิจารณา
การเพ่ง
          
เมื่อจะเข้าไปเพ่งดูซากศพ ท่านให้เข้าไปยืนไม่ให้ห่างเกินไป และไม่ชิดเกินไป การยืน อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นอสุภจะทำให้ไม่สบาย จะเกิดการอาเจียน และเดือดร้อน เพราะกลิ่นอาจทำ ให้เกิดโรค มีอาการทางท้อง หรือปวดศีรษะได้ อย่ายืนเหนือลมเกินไปเพราะพวกอมนุษย์ที่กำลังกัดกินเนื้ออสุภนั้นจะโกรธ จงยืนเฉียงอสุภด้านเหนือลม ลืมตาเพ่งจดจำรูปอสุภ นั้นด้วย  สี สัณฐานอาการที่วางอยู่ จำให้ได้ครบถ้วน แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น ถ้าภาพนั้นเลอะเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่จำได้แล้วก็หลับตานึกคิดถึงภาพนั้นใหม่ เมื่อจำได้แล้วให้กลับมาที่อยู่ นั่งเพ่งรูปอสุภนั้นให้ติดตา ติดใจ จนภาพนั้นเกิดเป็นอุคคหนิมิต คือภาพที่เห็นมานั้นติดอารมณ์อยู่เสมอ จะหลับตาหรือลืมตา ก็คิดเห็นภาพนั้นเป็นปกติ  อย่างนี้เรียกว่าได้อุคคหนิมิต คือนิมิตติดตา คือติดใจนั่นเอง ต่ออารมณ์ที่กำหนดนั้นมั่นคงแจ่มใสขึ้น ภาพที่จำได้นั้นมีสภาพแจ่มใสชัดเจนคล้ายกับ เห็นด้วยตา และภาพนั้นก็มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากรูปเดิม มีสภาพผุดผ่องเป็นร่างบริบูรณ์หรือผ่องใสกว่าภาพที่เพ่งมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าปฏิภาคนิมิต
พิจารณา
         
การเจริญอสุภกรรมฐาน ต้องหนักไปในทางพิจารณา  เพราะถ้าใช้แต่การเพ่งจำภาพเฉยๆ  จะกลายเป็นกสิณไป ในขณะที่เพ่งจำภาพนั้น  ท่านให้พิจารณาพร้อมๆ กันไปด้วย  โดยพิจารณาตามความรู้สึกที่แท้จริงว่า อสุภ คือซากศพนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน ไม่มี อะไรเป็นที่น่ารักน่าปรารถนาเลย ร่างกายคนและสัตว์ทั้งสิ้น มีสภาพน่าสะอิดสะเอียนอย่างนี้ แล้ว
น้อมภาพนั้นเข้าไปเทียบเคียงกับคนที่มีชีวิตอยู่ โดยคิดแสวงหาความเป็นจริงว่า ร่างที่เพริศพริ้ง แพรวพราวไปด้วยทรวดทรง และตระการตาไปด้วยเครื่องประดับนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวยงาม เลย ภายใต้หนังกำพร้ามีแต่ความโสโครก น่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน เลอะเทอะโสมมไปด้วย กลิ่นคาวที่เหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณร่างกาย ไม่มีส่วนใดที่จะหาว่า สะอาด น่ารัก แม้แต่น้อย ก็หาไม่ได้ เมื่อเทียบกับร่างของผู้อื่นแล้วก็เอามาเทียบกับตนเอง พิจารณาให้เห็นชัดว่า เราเอง ก็เป็นซากศพเคลื่อนที่ เป็นผีเน่าเดินได้ดี ๆ นั่นเอง ซากศพนี้มีสภาพเช่นใด เราเองก็มีสภาพ เช่นนั้นที่ยังมองไม่ชัดเพราะหนังกำพร้าหุ้มห่อไว้ แต่ทว่าสภาพที่เลอะเทอะน่าเกลียดโสโครกนี้ใช่ว่าจะพ้นการพิจารณาใคร่ครวญของท่านผู้มีปัญญาก็หาไม่ ความจริงสิ่งโสโครกที่ปรากฏ
ภายในก็หลั่งไหลออกมาปรากฏทุกวันคืน  เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด เสลด น้ำหนอง เหงื่อไคล สิ่งเหล่านี้เมื่อหลั่งไหลออกมาจากร่างกาย  เราเองผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรารถนาจะแตะต้องเพราะรังเกียจว่าเป็นสิ่งสกปรกโสโครก ความจริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ในกายของเราเอง  ฉะนั้นอสุภ คือ สิ่งที่น่าเกลียดนี้มีอยู่ในร่างกายของเราครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว เราก็คือส้วมเคลื่อนที่
หรือป่าช้า ที่บรรจุซากศพเคลื่อนที่นั่นเองที่ยังไม่ปรากฏแก่ตาชาวโลกก็เพราะหนังกำพร้ายังหุ้มไว้  ถ้าหนังกำพร้าขาดเมื่อไร  เมื่อนั้นแหละความศิวิไลซ์ก็จะสิ้นซากเมื่อนั้น สภาพที่แท้จริงจะปรากฏเช่นซากศพที่กำลังพิจารณาอยู่นี้  จงพยายามพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริงก่อนพิจารณาต้องเพ่งรูปให้อารมณ์จิตมีสมาธิสมบูรณ์บริบูรณ์เสียก่อน  เมื่อพิจารณาเห็นว่า
ตนของตนเองไม่สวยไม่งามแล้ว ก็เห็นคนอื่นว่าไม่สวยไม่งามได้ง่าย การเห็นตนเองเป็นความเห็นที่เกิดได้ยาก แต่ถ้าพยายามฝึกฝนเสมอ ๆ แล้ว อารมณ์จะเคยชิน จะเห็นว่าการพิจารณาตนนี้ง่าย เมื่อเห็นตนแล้วก็เห็นคนอื่นชัด ถ้าเห็นตนชัดว่าไม่มีอะไรสวย เพราะมีแต่ของน่าเกลียดโสโครก เราก็มองเห็นคนอื่นเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้ชิน ให้ขึ้นใจจนมองเห็นไม่ว่าใคร
มีสภาพเป็นซากศพ  ตัดความกำหนัดยินดีในส่วนกามารมณ์เสียได้แล้วชื่อว่าท่านได้อสุภกรรมฐาน ในส่วนของสมถภาวนาแล้ว การได้อสุภกรรมฐานในส่วนสมถะนี้เป็นผลได้ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่น คลอนแคลน อารมณ์ความเบื่อหน่ายจะเสื่อมทรามลงเมื่อไรก็ได้ เพราะปกติของอารมณ์จิต มีปกติฝักใฝ่ฝ่ายต่ำอยู่แล้ว  หากไปกระทบความยั่วยุเพียงเล็กน้อย  อารมณ์ฌานเพียงแค่
ปฐมฌานก็จะพลันสลายตัวลงอย่างไม่ยากนัก เพื่อรักษาอารมณ์ฌานที่หามาได้ยากอย่างยิ่งนี้ ไม่ให้เสื่อมเสียไป  เมื่ออารมณ์จิตหมด ความหวั่นไหวนี้ ท่านให้ใช้วิปัสสนาญาณเข้าสนับสนุน เพื่อทรงพลังสมาธิให้มั่นคง เพราะฌานใดที่ได้ไว้แล้ว และมีอารมณ์วิปัสสนาญาณสนับสนุน ฌานนั้นท่านว่าไม่มีวันที่จะเสื่อมสลายการเจริญวิปัสสนาญาณต่อจากอสุภฌานนี้                  ท่านสอนให้พิจารณาดังต่อไปนี้

ยกนิมิตอสุภเป็นวิปัสสนา
         
ธรรมดาของนิมิตที่เกิดจากอารมณ์ของสมาธิ  จะเป็นนิมิตของอุปจารฌานหรือที่เรียกว่า อุคคหนิมิต หรือขั้นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นอารมณ์ปฐมฌานก็ตาม จะเกิดยืนสภาพตลอดกาลตลอดสมัยนั้นไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วชั่วครู่ชั่วพักก็หายไป ทั้งนี้ก็เพราะจิตไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้นานมากนักจิตก็จะเคลื่อนจากฌาน  ตอนที่จิตเคลื่อนจากฌานนี่แหละภาพนิมิตก็จะเลือนหายไป ถ้าต้องการเห็นภาพใหม่  ก็ต้องตั้งต้นสมาธิกันใหม่ ถ้าประสงค์จะเอานิมิตเป็นวิปัสสนา เมื่อเพ่งพินิจอยู่ พอนิมิต หายไปก็ยกอารมณ์เข้าสู่ระดับวิปัสสนาโดยพิจารณาว่า นิมิตนี้ เราพยายามรักษาด้วยอารมณ์ใจ โดยควบคุมสมาธิจนเต็มกำลังอย่างนี้ แต่นิมิตนี้จะได้เห็นใจเรา จะอยู่กับเราโดยที่เราหรืออุตสาห์ประคับประคองจนอย่างยิ่งอย่างนี้  นิมิตนี้จะเห็นอกเห็นใจเราก็หาไม่ กลับมาอันตรธานหายไปเสียทั้ง ๆ ที่เรายังต้องการ ยังมีความปรารถนา นิมิตนี้มีสภาพที่จะต้องเคลื่อนหายไปตามกฎของธรรมดาฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีอันตรธานไปในที่สุด ฉะนั้น ความไม่เที่ยงของชีวิตที่มีความเกิดขึ้นนี้  มีความตายเป็นที่สุด เช่นเดียวกับนิมิตนี้ ขึ้นชื่อว่าความเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม  ต่างก็มีความไม่เที่ยงเสมอเหมือนกันหมดเมื่อเกิดแล้วก็มีอันที่จะต้องตายเหมือนกันหมด เอาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย เมื่อความไม่เที่ยงมีอยู่
ความทุกข์ก็ต้องมี เพราะการต้องการให้คงอยู่ยังมีตราบใด ความทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะความปรารถนาให้คงอยู่โดยไม่ต้องการให้เสื่อมสิ้นนั้น เป็นอารมณ์ที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง การทรงชีวิตนั้น ไม่ว่าจะทรงอยู่ในสภาพใด ๆ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น  เพราะทุกข์จากการแสวงหาอาหาร และเครื่องอุปโภคมาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บรบกวนทุกข์เพราะไม่อยากให้ของรักของชอบใจ แม้ในที่สุดชีวิตที่จะต้องแตกทำลายนั้นต้องอันตรธานไปความปรารถนาที่ฝืนความจริงตามกฎธรรมดานี้เป็นเหตุของความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ฝืนไม่ไหวต้องแตกทำลายอย่างนิมิตอสุภนี้เหมือนกัน นิมิตอสุภนี้ เดิมทีก็มีปัญจขันธ์เช่นเรา บัดนี้เขาต้องกระจัดพลัดพรากแตกกายทำลายขันธ์ออกเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่อย่างนี้ ความที่ขันธ์เป็นอย่างนี้ เขาจะมีความปรารถนาให้เป็นอย่างนี้ก็หาไม่  แม้เขาจะฝืนอย่างไร ก็ฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องสลายอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลก เป็น อนัตตา  คือไม่มีอะไรทรงสภาพ ไม่มีใครบังคับการสิ้นไปของชาวโลกนั้นเป็นความจริง  สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีความทุกข์มีแต่ความสุขทรงสภาพปกตินั้นมีพระนิพพานแห่งเดียว ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้ ท่านปฏิบัติอย่าง
เรานี้ ท่านเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเกลียด  เห็นสังขารทั้งหลายเป็นแดนของความทุกข์ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความรู้ความคิด  สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ท่านไม่ยึดมั่นในสังขารท่านเบื่อในสังขาร โดยท่านถือว่าธรรมดาของการเกิดมามีสังขารต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ ท่านไม่ปรารถนาการเกิดอีก  ท่านไม่ต้องการชาติภพใดๆ อีก  ท่านหวังนิพพานเป็นอารมณ์  คือท่าน
คิดนึกถึงพระนิพพานเป็นปกติ  ไม่มีอารมณ์รัก ความเกิด รักสมบัติ รักยศ รักสรรเสริญ ไม่รักแม้แต่สุขที่เกิดแต่ลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ท่านตัด ฉันทะ ความพอใจในโลกทั้งสิ้น ท่านตัด ราคะ ความกำหนัดยินดีในโลกทั้งสิ้น ท่านพอใจในพระนิพพาน เมื่อทรงชีวิตอยู่ท่านก็ทรงเมตตาเป็นปุเรจาริกคือมีเมตตาเป็นปกติ ท่านไม่ติดโลก คือสมบัติของโลก ท่านที่เข้าพระนิพพาน
ท่านมีอารมณ์เป็นอย่างไร  บัดนี้เราผู้เป็นพุทธสาวกก็กำลังทรงอารมณ์อย่างนั้นเราเห็นความไม่เที่ยงของสังขารแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน  เราเห็นความทุกข์เพราะการเกิดแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน  เราเห็นอนัตตาแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราจะพยายามตัดความไม่พอใจในโลกามีสิ่งทั้งหมดเพื่อได้ถึงพระนิพพานเป็นที่สุด
         
จงคิดอย่างนี้  พิจารณาอย่างนี้เนืองๆ ทุกวันทุกลมหายใจเข้าออกท่านจะเข้าถึงนิพพาน ในชาติปัจจุบัน  พระนิพพานเป็นของมีจริง  พระนิพพานเป็นสุขไม่มีทุกข์เจือปน  ผู้ที่มีจิตผูกพันพระนิพพานเป็นปกติ จะมีความสุขในสมัยที่ทรงชีวิตอยู่  ความสุขนี้อธิบายให้สมเหตุสมผลไม่ได้ เพราะเป็นสุขประณีต สุขยิ่งกว่าความสุขใด ๆ ที่เจือด้วยอามิส ท่านที่เข้าถึงแล้วเท่านั้นที่ท่านจะ
ทราบความสุขใจของท่านที่เข้าถึงพระนิพพานได้จริง  ขออธิบายวิปัสสนาญาณโดยอาศัยนิมิตอสุภกรรมฐานเป็นบาทไว้โดยย่อเพียงเท่านี้ ขอนักปฏิบัติจงคิดคำนึงเป็นปกติ ท่าน จะเข้าถึงพระนิพพานได้อย่างคาดไม่ถึง
 

ภาพประสาทหลอน
          
นักปฏิบัติกรรมฐานในอสุภกรรมฐานนี้  มักจะถูกอารมณ์อย่างหนึ่งที่คอยหลอกหลอนอยู่เสมอ อารมณ์ที่คอยหลอกหลอนนั้นคืออารมณ์อุปทาน อารมณ์อุปทานนี้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าจะถูกอสุภคือซากศพนั้นคอยหลอกหลอน การที่ออกไปเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาอสุภ ก็ดี หรือกำลังที่พิจารณาอสุภอยู่ที่วิหารก็ดี ในกาลบางครั้งอารมณ์จะหลอนตนเองว่าเหมือนมี ภาพซากศพที่
พิจารณานั้นบ้างมีภาพปีศาจจากที่อื่นบ้างแสดงอาการต่างๆ จะเข้ามาทำร้ายตน บางรายถึงกับตกใจกลายเป็นคนเสียสติไปก็มี ที่เป็นดังนี้ความจริงซากศพนั้นไม่ได้หลอกหลอน ผีปีศาจอื่นใดก็มิได้หลอกหลอน ที่เป็นดังนั้นก็อาศัยอุปทาน การยึดถือเดิมที่มีประจำจิตใจคนเรามาแต่อดีตว่าผีทำร้ายหลอกหลอน  ถ้าอารมณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว ท่านให้ตัดใจว่านี่เราจะฝึกเพื่อมรรคผลความดีเพื่อพ้นจากทุกข์  ซากศพที่ตายแล้วไม่มีวันจะลุกขึ้นมาทำร้ายได้  และปีศาจใดที่จะทำอันตรายแก่ พระโยคาวจรอย่างเรานี้ก็ไม่มี  พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้สำเร็จมรรคผลนับไม่ถ้วน  ไม่มีพระอริยเจ้าแม้แต่องค์เดียวที่ท่านไม่ได้ เจริญอสุภกรรมฐานแล้วสำเร็จมรรคผลทุกท่านต่างก็สำเร็จมรรคผลมาด้วยผ่านการเจริญอสุภกรรมฐานมาแล้วทั้งสิ้น ทุกท่านผ่านมาได้ไม่มีอันตราย
ต่อชีวิต เพราะซากศพหรือปีศาจเลย ภาพที่ปรากฏต่อหน้าเรานี้เป็นภาพประสาทหลอนเป็นอารมณ์ ของอุปทาน  ไม่มีอะไรจริงจัง  แล้วตัดใจปฏิบัติต่อไปด้วยการทรงสมาธิมั่นเพียงเท่านี้ภาพหลอนที่เห็นนั้นก็จะอันตรธานหายไป  บางรายตัดสินใจด้วยเอาชีวิตเป็นเดิมพันคือจะเห็นภาพหลอกหลอน หรือเกิดอารมณ์กลัวขึ้นมาก็ตามท่านตัดสินใจ เชิญเถิด ถ้าเราจะต้องตายเสีย ในระหว่างปฏิบัติความดีนี้จะตายเมื่อสิ้นลมปราณก็ดี จะตายเพราะถูกปีศาจทำอันตรายก็ดี เราพร้อมที่จะตาย เพราะเราไม่ ปรารถนาการเกิด  และไม่ปรารถนาจะอยู่คู่กับโลกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อน เต็มไปด้วยความทุกข์ มีแต่ความหลอกหลอนปลิ้นปล้อน หาความจริงที่เป็นเหตุของความสุขไม่ได้ ใครต้องการชีวิตก็เชิญเถิดแล้วท่านก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย  จะมีเสียงมีอาการอะไรปรากฏท่านไม่สนใจ เท่านี้ ภาพหลอนและอารมณ์กลัวก็จะหายไป ท่านก็กลับได้สมาธิตั้งมั่นอย่างคาดไม่ถึงและมีผลทางวิปัสสนาญาณอย่างเลิศ ท่านที่ตัดสินใจเอาชีวิตเป็นเดิมพันนี้ นอกจากจะหมดความกลัวแล้ว ถ้าทำถูกทางรู้สึกว่าฌานและวิปัสสนาญาณไม่มีอะไรยากสำหรับท่าน ทำได้ดี ได้รับผลรวดเร็วเกินกว่าที่คาดคิดไว้ ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจและนำไปปฏิบัติท่านจะได้รับผลสมความตั้งใจ 

ภาพหลอน

นอกจากอารมณ์หลอน  ก็ยังมีภาพหลอนอีก ภาพหลอนนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว แต่เป็นภาพที่น่ารัก เป็นภาพคนสวยๆ  บ้าง  เป็นเทวดาบ้างเป็นภาพปราสาท หรือวิมานบ้างเมื่อปรากฏขึ้นก็สร้างอารมณ์ปลาบปลื้มแก่ท่านที่ได้เห็น ขอเตือนนักปฏิบัติว่าภาพอื่นนอกจากภาพนิมิตที่ท่านกำหนดไว้เดิมแล้วท่านอย่าสนใจเป็นอันขาด เพราะจะทำให้จิตซ่านออกจากอารมณ์สมาธิเป็นภาพลวงตา
จงรักษาแต่ภาพนิมิตที่กำหนดแล้วเท่านั้น จงทิ้งภาพอื่นเสียเพราะจะทำให้สมาธิเสีย                                                                                                                                                                              

ความมุ่งหมายในอสุภ   

          อสุภกรรมฐานนี้ ท่านสอนไว้ถึง ๑๐ อย่าง  ก็ด้วยมีความมุ่งหมายดังต่อไปนี้
          
๑. อุทธุมาตกอสุภ  ท่านสอนไว้เพื่อเป็นที่สบายของบุคคลผู้มีความกำหนัดยินดีในทรวดทรงสัณฐาน  เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ของทรวดทรงสัณฐานว่าไม่มีสภาพคงที่ในที่สุดก็ต้องอืดพองเหม็นเน่าเป็นสิ่งโสโครกที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าชอบใจอย่างนี้
          
๒. วินีลกอสุภ  เป็นที่น่าสบายของบุคคลที่หนักไปในทางมีความใคร่พอใจในผิวพรรณที่ผุดผ่อง เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ผิวพรรณนั้นไม่สวยจริงในที่สุดก็จะกลายเป็นผิวที่มีสีสันวรรณะ ที่เขียว ขาว แดง  เละเทะ เลอะเลือน แปดเปื้อนไป ด้วยสิ่งโสโครกที่มีอยู่ภายในผิวพรรณที่หุ้มห่อไว้นั้นจะหลั่งไหลออกมาให้กลายเป็นของ น่าเกลียดโสโครก
          
๓. วิปุพพกอสุภ  เป็นที่สบายของบุคคลที่มีความยินดีในผิวพรรณที่ปรุงด้วยเครื่องหอมเอามาฉาบทาไว้  อสุภนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องหอมที่ฉาบทาประทินผิวไว้นั้นไม่มี ความหมาย ในที่สุดก็ต้านทานสิ่งโสโครกที่อยู่ภายในไม่ได้  น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ที่มีอยู่ภายในก็จะทะลักออกมาทับถมเครื่องประทินผิวเหล่านั้นให้หายไป ร่างกายจะเต็มไปด้วยสิ่งโสโครกที่สิงอยู่ภายใน
          
๔. วิฉิททกอสุภ เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีร่างกายที่มีแท่งทึบมีเนื้อล่ำที่พอกนูนออกมา เป็นเครื่องบำรุงราคะของผู้ที่มักมากในเนื้อแท่งที่กำเริบกรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าร่างกายนี้มิใช่เป็นแท่งทึบตามที่คิดไว้ ความจริงเป็นโพรงโปร่งอยู่ภายในและเต็มไปด้วยของโสโครก
           
๕. วิกขายิตกอสุภ กรรมฐานนี้เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีในเนื้อกล้ามบางส่วนของร่างกาย กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าส่วนของกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายที่ตนใคร่และปรารถนาอย่างแรงกล้านั้น ในไม่ช้าก็ต้องวิปริตสลายตัวไปและเป็นกล้ามเนื้อที่เต็มไปด้วยสิ่งโสโครกไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ
          
๖. วิกขิตตกอสุภ  อสุภนี้เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดี  ในลีลาอิริยาบถมีการยกย่าง ก้าวไป ถอยกลับ และการคู้แขนเหยียดแขน  ของเพศตรงข้าม  เรียกว่า  เป็น ผู้ใคร่ในอิริยาบถ  พอใจกำหนัดยินดีในในท่อนแห่งกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นว่าอวัยวะต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในอิริยาบถนั้นไม่มีอะไรแน่นอน ไม่สามารถจะ
รวมกลุ่มกันได้ตลอดกาลตลอดสมัย  ในที่สุดก็ต้องกระจัดพลัดพรากจากกันไปเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ตามที่ปรากฏนี้
          
๗. หตวิขิตตกอสุภ  เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีในข้อต่อ  คือร่างกายที่มีอาการ ๓๒ ครบถ้วน  คนประเภทนี้รักไม่เลือก  ถ้าเห็นว่าเป็นคนที่มีอวัยวะไม่บกพร่อง แล้วเป็นรักได้  กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า  การติดต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ ไม่จีรังยั่งยืน ในไม่ช้าก็จะต้องพลัดพรากจากกันตามกฎของธรรมดา
          
๘. โลหิตกอสุภ  เป็นที่สบายของคนรักความงามของร่างกายที่ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ     คือเป็นคนที่บูชาเครื่องอาภรณ์มากกว่าเนื้อแท้     กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าอาภรณ์นั้นไม่สามารถจะรักษาแท่งทึบของก้อนเนื้อที่รับรองเครื่องประดับไว้ได้  ในไม่ช้าสิ่งโสโครกภายในก็จะหลั่งไหลออกมา เครื่องประดับที่เป็นเครื่องเจริญตามิได้มีอำนาจต้านทานกฎธรรมดาไว้ได้เลย
          
๙. ปุฬุวกอสุภ  เป็นที่สบายของคนที่ยึดถือว่า ร่างกายนี้เป็นของเรา แต่กรรมฐานนี้แสดงว่า  ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา  ร่างกายนี้เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอนที่กำลังกินอยู่  ถ้าร่างกายเป็นของเราจริง  เจ้าของร่างคงไม่ปล่อยให้หนอนกัดกินเป็นอาหารได้
          
๑๐. อัฎฐิกอสุภ     เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในฟันที่ราบเรียบขาวเป็นเงางาม  กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า  กระดูกฟันนี้ก็ต้องหลุดถอนเป็นธรรมดาไม่คงสภาพสวยสดงดงามให้ชมอยู่ตลอดกาล  ตลอดสมัยได้  ตัวไม่ทันตาย  ฟันก็หลุดออกก่อนแล้วและความศิวิไลซ์ของฟันที่ว่าสวยนั้นก็ไม่จริง  ถ้าปล่อยไว้ไม่ชำระขัดสีเพียงวันเดียวสีขาวไข่มุกนั้นก็จะเริ่มกลายเป็นสีเหลืองเพราะสิ่งโสโครกที่ฟันเกาะไว้นอกจากจะโสโครกแล้ว   ฟันก็ จะปรากฏกลิ่นเหม็นจนเจ้าของเองทนไม่ไหว
          
อสุภกรรมฐานที่ท่านกล่าวสอนไว้ถึง ๑๐ อย่าง มีความหมายอย่างที่ว่ามานี้แล้วของท่านนักปฏิบัติ  ที่จะฝึกหัดกำจัดอำนาจราคะ   คือความกำหนัดยินดีในเพศตรงข้าม  หรือเป็นนักนิยมสีสันวรรณะแล้ว  ท่านจงเลือกฝึกในอสุภทั้ง ๑๐  อย่างนี้   อย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมแก่ความรู้สึกเดิม     ที่มีความกำหนัดยินดีอยู่นั้น   เพื่อผลในการปฏิบัติในส่วนวิปัสสนาญาณ  เพื่อมรรคผลต่อไปเถิด

(จบอสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่างแต่เพียงเท่านี้)

อนุสสติ ๑๐
          
อนุสสติ   แปลว่า  "ตามระลึกถึง"  กรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานที่ตามระลึกนึกถึงมีกำลังสมาธิไม่เสมอกัน  บางหมวดก็มีสมาธิเพียงอุปจารฌาน บางหมวดก็มีสมาธิถึงปฐมฌานบางหมวดก็มีสมาธิถึงฌาน  และฌาน ๕ กำลังของกรรมฐานกองนี้มีกำลังไม่เสมอกันดังนี้ เมื่อถึงกรรมฐานหมวดใดมีกำลังเท่าใด จะได้เขียนไว้เพื่อทราบ อนุสสติทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ก็เหมาะแก่อารมณ์
ของนักปฏิบัติไม่ใช่อย่างเดียวกัน บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต  บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในวิตกและโมหะจริต บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปใน ราคจริตกองใดหมวดใดเหมาะแก่ท่านที่หนักไปในจริตใด  ก็จะได้เขียนบอกไว้เพื่อทราบเมื่อถึงกองนั้น ๆ  อนุสสตินี้มีชื่อและอาการรวม ๑๐ อย่างด้วยกัน จะได้นำชื่อแห่งอนุสสติทั้งหมดมาเขียนไว้เพื่อทราบดังต่อไปนี้
          
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
          
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
         
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
         
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
         
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงผลของทานการบริจาคเป็นอารมณ์
          
๖. เทวานุสสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์  (อนุสสติทั้ง ๖ กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต)
          
๗. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
          
๘. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์  (อนุสสติ ๒ กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในพุทธจริต)
          
๙. กายคตานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในราคจริต
          
๑๐. อานาปานานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในโมหะและวิตกจริต
          
อนุสสติทั้ง ๑๐ นี้ เหมาะแก่อัชฌาสัยของนักปฏิบัติแต่ละอย่างดังนี้ ขอท่านนักปฏิบัติ  พึงทราบ และเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะพอดีแก่อัชฌาสัยของตน จะได้ผลเป็นสมาธิมีอารมณ์ตั้งมั่น รวดเร็ว ไม่ล่าช้า
กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง ๑๐
          
กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง ๑๐ มีกำลังสมาธิแตกต่างกันอย่างนี้
          
พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ  เทวตานุสสติ  มรณานุสสติ  อุปสมานุสสติ  อนุสสติ  ทั้ง ๗ นี้ มีกำลังสูงสุดเพียงอุปจารสมาธิ  สีลานุสสติ มีกำลังสมาธิถึงอุปจารสมาธิ  และอย่างสูงสุดเป็นพิเศษถึงปฐมฌาน ทั้งนี้ถ้า  ท่านนักปฏิบัติฉลาดในการควบคุมสมาธิจึงจะถึงปฐมฌานได้  แต่ถ้าทำกันตามปกติธรรมดาแล้ว ก็ทรงได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น  กายคตานุสสติกรรมฐานกองนี้ ถ้าพิจารณาตามปกติในกายคตาแล้ว จะทรงสมาธิได้เพียง  ปฐมฌานเท่านั้น แต่ถ้านักปฏิบัติฉลาดทำ  หรือครูฉลาดสอน ยกเอาสีเขียว  ขาว  แดง ที่ปรากฏในอารมณ์แห่งกายคตานุสสตินั้นเอามาเป็นกสิณ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคดังนี้ ท่านว่า กรรมฐานกองนี้  ก็สามารถทรงสมาธิได้ถึงฌาน ๔ ตามกำลังสมาธิในกสิณนั้น อานาปานานุสสติ  สำหรับอานาปานานุสสตินี้ มีกำลังสมาธิถึงฌาน  สำหรับท่านที่มีวาสนา  บารมีสาวกภูมิ  สำหรับท่านที่มีบารมีคือปรารถนาพุทธภูมิแล้ว  ก็สามารถทรงสมาธิได้ถึงฌาน  ๕  ฌาน  หรือ ฌาน ๕ มีอาการแตกต่างกันอย่างไรต้องการทราบโปรดพลิกดูตอนต้นที่ว่าด้วยฌาน  เมื่อท่านทราบกำลังสมาธิและความเหมาะสมแก่จริตของบรรดาอนุสสติ ทั้งหมดนี้แล้ว ต่อแต่นี้ไป จะได้อธิบายอนุสสติเป็นกอง ๆ  ไป  เพื่อความเข้าใจพอสมควร เพราะการอธิบายนี้อาจไม่  ละเอียดเท่าแบบ คือ วิสุทธิมรรคในบางตอนที่ควรย่อก็จะย่อลงให้สั้น บางตอนควรขยายก็จะขยายให้ ยาวออกไป เพื่อความเข้าใจของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ  หากตอนใดย่อสั้นเกินไปท่านไม่เข้าใจแล้ว ถ้าประสงค์จะให้เข้าใจชัด โปรดหาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะได้รับความรู้เพิ่มเติมครบถ้วนบริบูรณ์

๑. พุทธานุสสติกรรมฐาน          
          
กรรมฐานกองนี้ท่านสอนให้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า การระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า  ระลึกได้ไม่จำกัดว่า จะต้องระลึกตามแบบของท่านผู้นั้นผู้นี้ที่สอนไว้โดยจำกัด   เพราะพระพุทธคุณ คือคุณความดีของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายจะพรรณนาอย่างไรให้จบสิ้นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ และถ้าจะมีใครมาวางแบบวางแผนว่า การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้านั้น  ต้องจำกัดลงไปว่า ระลึกอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะถูกต้องตามที่ปรากฏในปัจจุบันมีมาก

ระลึกตามแบบ
          
ระลึกตามแบบ หมายความท่านผู้ใดจะนั่งนอนระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยยกเอาพระคุณของพระองค์มาระลึกถึง  เช่น ระลึกถึงพระคุณสามประการ คือ
          
๑. ระลึกถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์  ที่ทรงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด ไม่มีความชั่วเหลืออยู่ในพระกมลสันดาน  พระองค์ทรงบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง  เป็นความดีที่เราควรปฏิบัติตาม
          
๒. ระลึกถึงพระปัญญาอันเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดของพระองค์ ด้วยพระองค์มีความรู้ความฉลาดยอดเยี่ยมกว่าเทวดา พรหม และมนุษย์ทั้งหลายเพราะนอกจากจะทรงรู้ในหลักวิชาการต่างๆ ตามความนิยมของปกติชนแล้ว พระองค์ยังทรงรู้ที่มาของความทุกข์ และรู้การปฏิบัติเพื่อทำลายต้นตอของความทุกข์นั้น ๆ ได้แก่ทรงรู้ในอริยสัจ ๔
         
๓. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คือพระองค์เมื่อทรงเป็นผู้รู้เลิศแล้ว พระองค์มิได้ปกปิดความรู้นั้นเพื่อพระองค์เองโดยเฉพาะ พระองค์นำความรู้มาสั่งสอนแก่หมู่มวลชนอย่างเปิดเผยไม่ปกปิดความรู้แม้แต่น้อย พระองค์ทรงทรมานพระวรกาย เพราะสั่งสอนพุทธเวไนยให้เกิดความรู้ความฉลาด เพื่อกำจัดเหตุชั่วร้ายที่ฝังอยู่ในสันดานมานาน มีสภาพคล้ายผีสิง เหตุชั่วร้ายนั้นก็คือ
          
ก. ความโลภ อยากได้สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน
          
ข. ความพยาบาท คือความโหดร้ายที่ฝังอยู่ในจิตใจ คิดที่จะประหัตประหารทำอันตรายผู้อื่นให้ได้รับความ พินาศ
         
ค. ความโง่เขลา ที่คอยกระตุ้นเตือนใจให้ลุ่มหลงในสรรพวัตถุจนเกินพอดี คือคิดปลูกฝังใจในวัตถุ  โดยไม่คิดว่าของนั้นจะต้องเก่า จะต้องพังไปในสภาพ
         
พระองค์ทรงพระกรุณาสอนให้รู้ทั่วกันว่า  การมุ่งหวังจะเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนนั้นเป็นความเลวร้ายที่ควรจะละ  เพราะเป็นเหตุของการสร้างศัตรู  การคิดประทุษร้ายด้วยอำนาจโทสะเป็นเหตุบั่นทอนความสุขส่วนตน เพราะผู้คิดนั้นเกิดความทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิด คือกินไม่อิ่มนอนไม่หลับทำให้สุขภาพของตนเสื่อมโทรมยังไม่ทันทำอันตรายเขา ผู้คิดก็ค่อย   ตายลงไปทีละน้อย ๆ แล้วเพราะเหตุที่กินน้อยนอนน้อย การหลงในทรัพย์เกินไป ที่ไม่คิดว่ามันจะต้องเก่า  ต้องทำลายตามสภาพ
เป็นเหตุให้เกิดความคับแค้น   คือเสียใจ เศร้าใจ ทำให้ชีวิตไม่สดใส สดชื่น มีความเศร้าหมอง มีทุกข์ประจำใจเป็นปกติ
ทางแก้ไข
          
๑. ความโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน พระองค์ทรงสอนให้รู้จักการให้ทานเป็นการแก้ความรู้สึกเดิม เพราะทานเป็นการสละออก มีอาการตรงข้ามกับการคิดอยากได้ผลทานนี้ก็มีผลเป็นเครื่องบันดาลความสุขในปัจจุบัน เพราะผู้รับทานย่อมมีความรักและเคารพในผู้ให้ทาน การให้ทานเป็นการสร้างมิตร ตรงกันข้ามกับการคิดอยากได้ดังผู้อื่น เป็นเหตุของความทุกข์เป็นเหตุของการสร้างศัตรู
          
๒. พยาบาท ท่านสอนให้รักษาศีลเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังพยาบาท  เพราะมาจากโทสะความคิดประทุษร้ายเป็นสมุฏฐาน  สำหรับการรักษาศีลนั้น มีเมตตา ความแสดงออกถึงความรักความสงสารเป็นเป็นสมุฏฐาน เมื่อรักษาศีลก็ต้องมีเมตตา กรุณา ถ้าเมตตากรุณา ไม่มีแล้ว ศีลก็ทรงตัวไม่ได้ ฉะนั้นที่พระองค์ทรงสอนให้รักษาศีล ก็คือฝึกจิตให้มีเมตตาปรานีนั่นเอง ซึ่งมีคติตรงข้ามกับพยาบาท และเป็นอารมณ์หักล้าง พยาบาทเป็นเหตุของความสุข เพราะคนที่มีความเมตตาปรานีนั้น ย่อมเป็นที่รักของมวลชน แม้สัตว์เดียรัจฉานก็รัก เราจะเห็นได้ว่าบ้านที่มีสุนัขดุ ๆ ใคร ๆ  ก็เข้าไม่ได้  ถ้าเราหมั่นเอาอาหารไปให้สุนัขตัวนั้นบ่อย ๆ ไม่ช้าก็เชื่อง เป็นมิตรที่ดีไม่ทำอันตรายคนมีเมตตา มีความสุขเพราะเป็นที่รักของชนทั่วไปอย่างนี้  เป็นการแก้เหตุของ
ความทุกข์ให้เป็นเหตุของความสุข จัดว่าเป็น พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมหันต์
          
๓. ความหลง คือความโง่ ที่มีความคิดว่า อะไรที่เรามีแล้ว ต้องมีสภาพคงที่ ไม่เก่าไม่ทำลาย พอของสิ่งนั้นเก่าหรือทำลาย ความเสียใจก็เกิดขึ้น กฎข้อนี้เป็นปกติธรรมดาก็จริง ที่พอจะรู้ได้อย่างไม่ยาก แต่คนในโลกนี้ก็ไม่ค่อยคิดตาม กลับคิดฝืนกฎธรรมดาจนเป็นเหตุของความทุกข์อย่างมหันต์ เพราะคนเกิดแล้วต้องตาย ชาวบ้านชาวเมืองตายให้ดูเยอะแยะ ไม่จดจำ 
แต่พอตัวจะตาย ญาติตาย เกิดทุกข์ร้องไห้เสียใจ ความจริงความตายนี้เป็นของปกติธรรมดา ไม่มีใครพ้น แต่คนไม่คิดมีแต่ความผูกพัน คิดว่าจะอยู่ตลอดกาล พระองค์เห็นว่าคนทั่วโลกโง่อย่างนี้  จึงทรงแก้ด้วยการสอนวิปัสสนาญาณ  คือสอนให้รู้กฎของความเป็นจริง ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง  เป็นการเปลื้องอุปาทาน คือความโง่ออกเสียจากความรู้สึก เป็นการสร้าง
ความสบายใจให้เกิดแก่มวลพุทธศาสนิกชนทั่วไป
          
ท่านจะคิดใคร่ครวญถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าตามนี้ก็ได้  หรือจะคิดอย่างอื่นก็ได้แต่ขอให้อยู่ในข่ายระลึกนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นใช้ได้
ระลึกตามบทพระพุทธคุณ ๙ อย่าง
         
การระลึกตามแบบพระพุทธคุณ  ๙  อย่างนี้ เป็นการระลึกถึงผลที่พระองค์ทรงบรรลุ จะไม่นำมาเขียนไว้เห็นท่าจะไม่เหมาะ ขอนำมาเขียนไว้เพื่อทราบดังต่อไปนี้
         
๑. อรหัง คำว่า อรหังนี้  แปลว่า ท่านผู้ไกลจากกิเลส หมายความว่า พระพุทธองค์ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่ในพระหฤทัยเลย เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง ๆ  อารมณ์กิเลสที่พระอรหังหรือที่เรียกว่าพระอรหันต์ละได้นั้น

มี ๑๐ อย่าง คือ
         
๑. สักกายทิฎฐิ  เห็นว่าร่างกายนี้  ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกาย  กายไม่มีในเรา ท่านละความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคล เราเขาเสียได้ " โดยเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแต่ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม  ไฟ ประชุมกันชั่วคราว เป็นที่อาศัยของนามธรรม คือ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์  คืออารมณ์วางเฉยจากอารมณ์สุขทุกข์  สัญญา มีความจดจำเรื่องราวที่ล่วงมาแล้วสังขาร อารมณ์ชั่วร้ายและอารมณ์เมตตาปรานีสดชื่น  อันเกิดต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล  คือความดีและอารมณ์ที่เป็นอกุศล คือความชั่วที่เรียกกันว่า อารมณ์เป็นบุญ และอารมณ์เป็นบาปที่คอยเข้าควบคุมใจวิญญาณ คือ ความรู้ หนาว ร้อน หิวกระหาย เผ็ดเปรี้ยวหวานมันเค็ม และการสัมผัสถูกต้องเป็นต้นวิญญาณนี้ไม่ใช่ตัวนึกคิด ตัวนึกคิดนั้นคือจิต วิญญาณกับจิตนี้คนละอันแต่นักแต่งหนังสือมักจะเอาไปเขียนเป็นอันเดียวกัน ทำให้เข้าใจเขว ควรจะแยกกันเสีย เพื่อความเข้าใจง่าย อีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามา
อาศัยกายและไม่ตายร่วมกับร่างกาย สิ่งนั้นก็คือจิต เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ตายร่วมกับร่างกาย คือกายตายก็ตายด้วย  แต่จิตที่เข้ามาอาศัยกายนี้ เข้ามาอาศัยชั่วคราว  เมื่อกายตั้งอยู่ คือดำรงอยู่ร่วมพร้อมกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตก็อาศัยอยู่ แต่ถ้าขันธ์  มีร่างกายเป็นประธานตายแล้วจิตก็ท่องเที่ยวไปแสวงหาที่อาศัยใหม่ คำว่าเราในที่นี้ ท่านหมายเอาจิตที่เข้ามา
อาศัยกาย เมื่อท่านทราบอย่างนี้ท่านจึงไม่หนักใจ และผูกใจว่า ขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เราไม่มีในกายกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยในกาย คือ ขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕ ถ้าทรงอยู่ได้รักษาได้ก็อาศัยต่อไปถ้าผุพังแล้วท่านก็ไม่หนักใจ ไม่ตกใจ ไม่เสียดายห่วงใยในขันธ์   ท่านปล่อยไปตามกฎของธรรมดาเสมือนกับคนอาศัยรถหรือเรือโดยสาร เมื่อยังไม่ถึง
เวลาลงก็นั่งไป แต่ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร ก็ลงจากรถจากเรือ โดยไม่คิดห่วงใยเสียดายรถหรือเรือโดยสารนั้น  เพราะทราบแล้วว่ามันไม่ใช่ของเราเขาก็ไม่ใช่เรา  เราก็ไปตามทางของเราส่วนรถเรือโดยสารก็ไปตามทางของเขา ต่างคนต่างไม่มีห่วงใย พระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีความรู้สึกอย่างนี้  พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมอรหันต์ พระองค์มีความรู้สึกอย่างนี้  ท่านนักปฏิบัติ
ที่ระลึกถึงพระคุณข้อนี้  ก็ควรทำความพอใจตามที่พระองค์ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ จะเป็นเครื่องบั่นทอนกิเลสลงได้มาก จนเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างพระองค์ "
          
๒. วิจิกิจฉา พระอรหันต์ท่านเชื่อมั่นในธรรมปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วโดยไม่เคลือบแคลงสงสัยและปฏิบัติตามด้วยศรัทธายิ่ง
          
๓. สีลัพพตปรามาส ท่านรักษาศีลเป็นอธิศีล คือ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองไม่แนะให้ใครละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล
          
๔. ละกามฉันทะ คือความยินดีในกามารมณ์ ท่านหมดความรู้สึกทางเพศเด็ดขาดมีอสุจิเหือดแห้ง ความรู้สึกพอใจในกามารมณ์ไม่มีในความรู้สึกของท่านเลย
          
๕. พยาบาท ท่านตัดความโกรธความพยาบาทได้สิ้นเชิง มีแต่ความเมตตาปรานีเป็นปกติ
         
๖. รูปราคะ ท่านตัดความสำคัญในรูปฌานว่าเลิศเสียได้ โดยเห็นว่ารูปฌานนี้เป็นกำลังส่งให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ตัวมรรคผลนิพพาน
          
๗.ท่านตัดความเห็นว่าเลิศในอรูปฌานเสียได้ โดยเห็นว่าอรูปฌานนี้ก็เป็นเพียงกำลังส่งให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณเช่นเดียวกับรูปฌาน
          
๘. มานะ ท่านตัดความถือตัวถือตนว่า เราเลวกว่าเขา  เราเสมอเขา  เราดีกว่าเขาเสียได้โดยวางอารมณ์เป็นอุเบกขา คือเฉย ๆ ต่อยศถาบรรดาศักดิ์และฐานะความเป็นอยู่เพราะทราบแล้วว่าไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล
          
๙. อุทธัจจะ ท่านตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ที่คิดนอกลู่นอกทางเสียได้ มีอารมณ์ผ่องใสพอใจในพระนิพพานเป็นปกติ
          
๑๐. ท่านตัดอวิชชา คือความโง่ออกเสียได้สิ้นเชิง ท่านหมดความพอใจในสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต โดยที่คิดว่าเป็นสมบัติยั่งยืนได้สิ้นเชิงท่านเห็นว่า ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นมีเกิดแล้วก็เสื่อมในที่สุดก็ต้องทำลาย ฉะนั้น อารมณ์ของท่านจึงไม่ยึดถืออะไรมั่นคง  มีก็ใช้  เมื่อสลายตัวไปก็ไม่มีทุกข์          ท่านตัดความกำหนัดยินดีในสมบัติของโลกเสียทั้งหมด ไม่มีเยื่อใยรักใคร่หวงแหนอะไรทั้งหมด แม้แต่สังขารของท่าน
          
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกองค์มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านที่เจริญอนุสสติข้อนี้ เมื่อใคร่ครวญตามความดีทั้งสิบประการนี้เสมอ ๆ ทำให้อารมณ์ผ่องใสในพระพุทธคุณมากขึ้น เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไม่ยากนัก                        ๒. สัมมาสัมพุทโธ  แปลว่า  ตรัสรู้เองโดยชอบ  ความหมายนี้ หมายความว่า พระองค์
ทรงรู้อริยสัจ ทั้ง ๔ คือ รู้ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ รู้สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ คือ
         
๑. กามตัณหา ทะยานอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมี อยากให้มีขึ้น
          
๒. ภวตัณหา สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว อยากให้คงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง
         
๓.วิภวตัณหา อยากให้สิ่งที่จะต้องสลายตัวนั้น ที่เป็นไปตามกฎธรรมดา มีความปรารถนาไม่ให้กฎธรรมดาเกิดขึ้น คือ ไม่อยากให้สลายและไม่อยากเสื่อม ไม่อยากตายนั่นเอง ความรู้สึกอย่างนี้เป็นความรู้สึกที่ฝืนกฎธรรมดา เป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์   ทรงนิโรธะ คือความดับสูญไปแห่งความทุกข์ และทรงทราบมรรค คือปฏิปทาที่ปฏิบัติให้เข้าถึงความทุกข์ คือทุกข์นั้นสูญสิ้นไป ได้แก่ทรงทราบมรรคคือข้อปฏิบัติ ๘ ประการดังต่อไปนี้
          
๑. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ
         
๒. สัมมาสังกัปโป  ความดำริชอบ
          
๓. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ
          
๔. สัมมากัมมันโต  มีการงานชอบ
         
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ
          
๖. สัมมาวายาโม  ความพยายามชอบ
          
๗. สัมมาสติ   ระลึกชอบ
          
๘. สัมมาสมาธิ  ตั้งใจชอบ

          ในมรรคคือข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงความดับสูญไปแห่งทุกข์นี้ ย่อลงเหลือสาม คือได้แก่ ศีล การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย  ตามขอบเขตของสิกขาบท สมาธิ  การดำรงความตั้งมั่นของจิต ที่ไม่เป็นเวรเป็นภัยต่อสังคม คือดำรงฌานไว้ด้วยดี เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ ปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดา ไม่มีอารมณ์คิดที่จะฝืนกฎธรรมดานั้น
          
๓. วิชชาจรณสัมปันโน  แปลว่า พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ ทรงมีความรู้รอบและความประพฤติครบถ้วน
         
วิชชา แปลว่าความรู้ หมายถึงรู้ในวิชชาสาม ที่สามัญชนไม่สามารถจะรู้ได้ คือ
          
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงมีความรู้ในการระลึกชาติที่ล่วงแล้วมาได้อย่างไม่จำกัดไม่มีผู้อื่นใดจะระลึกชาติได้มากเท่าพระองค์ และพระองค์ทรงมีความชำนาญในการระลึกชาติได้อย่างเยี่ยม
          
๒. จุตูปปาตญาณ พระองค์ทรงมีความรู้ ความเกิด และความตายของสัตว์ โดยทรงรู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วนี้ไปเกิด ณ ที่ใด  มีความสุขความทุกข์เป็นประการใด  เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ และทรงทราบว่า สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้มาจากไหน ที่มีความสุขความทุกข์อยู่นี้ เพราะอาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ
          
๓. อาสวักขยญาณ ทรงรู้วิชชาที่ทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป
         
จรณะ หมายถึงความประพฤติ  พระองค์มีความประพฤติครบถ้วนยอดเยี่ยม ท่านประมวลความประพฤติที่พอจะนำมากล่าวไว้ได้โดยประมวลมี ๑๕ ข้อด้วยกัน คือ
         
๑. สีลสัมปทา พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีล  คือ ทรงปฏิบัติในศีลไม่บกพร่อง
         
๒. อินทรียสังวร ทรงระมัดระวังในการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ
          
๓. โภชเนมัตตัญญุตา ทรงรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
          
๔. ชาคริยานุโยค ทรงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ คือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์
          
๕. สัทธา ทรงมีความเชื่อมั่นในผลการปฏิบัติ ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย
          
๖. หิริ ทรงมีความละอายต่อผลของความชั่วทั้งมวล
          
๗. โอตตัปปะ ทรงเกรงกลัวต่อผลของความชั่วทั้งมวล
          
๘. พาหุสัจจะ ทรงสั่งสมวิชาการต่าง ๆ ด้วยการศึกษามาแล้วด้วยดี
          
๙. วิริยะ ทรงมีความเพียรไม่ท้อถอย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
          
๑๐. สติ ทรงมีสติสมบูรณ์
          
๑๑. ปัญญา  มีปัญญารอบรู้ในวิทยาการทุกแขนง และทรงรู้แจ้งในอริยสัจ โดยที่มิได้ศึกษาจากผู้ใดมาในกาลก่อน ทรงค้นคว้าพบด้วยพระองค์เอง
         
๑๒. ปฐมฌาน ทรงฝึกฌาน จนได้ปฐมฌาน
          
๑๓. ทุติยฌาน ทรงฝึกจนได้ฌานที่สอง
          
๑๔. ตติยฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนได้ฌานที่สาม
          
๑๕. จตุตถฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนทรงฌานที่ ๔ ไว้ได้ด้วยดีเป็นพิเศษ
          
ทั้งหมดนี้ จัดเป็นจริยา คือความประพฤติของพระองค์ อันเป็นแบบอย่างที่บรรดาพุทธสาวกจะพึงปฏิบัติตามให้ครบถ้วนบริบูรณ์  เพื่อผลไพบูลย์ในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล เพราะพระองค์ทรงมีความประพฤติอย่างนี้ จึงทรงบรรลุมรรคผล หากพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระองค์ปฏิบัติตาม  ก็มีหวังได้บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน
 

๔. สุคโต  แปลว่า  เสด็จไปดีแล้ว หมายความว่า พระองค์เสด็จไป  ที่ใด พระองค์นำแต่ความสุขไปให้เจ้าของถิ่น คือนำความรู้อันเป็นเหตุของความสุขไปให้ ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ใครก็ตาม บูชาพระองค์แล้ว ไม่เคยผิดหวังที่จะได้รับความสุขในทางปฏิบัติ
          
๕. โลกวิทู แปลว่า รู้แจ้งโลก หมายความว่า โลกทุกโลกมียมโลก คือโลกแห่งการทรมาน ได้แก่นรก เปรต อสุรกาย เป็นต้น มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก และพระนิพพาน อันเป็นดินแดนพ้นโลก พระองค์ทรงทราบตลอดหมดสิ้น แม้แต่ปฏิปทาที่จะให้ไปเกิดในโลกนั้น ๆ
         
๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ แปลว่า เป็นนายสารถีผู้ฝึก ไม่มีนายสารถีใดมีความสามารถฝึกได้เสมอเหมือนพระองค์ ทั้งนี้หมายความถึงการฝึกธรรมปฏิบัติ พระองค์ทรงมีญาณพิเศษที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ทรงรู้ใจคนว่า ผู้นี้ควรสอนอย่างไรจึงได้ผล พระองค์ทรงฝึกสอนตามที่รู้ด้วยพระญาณนั้น จึงมีความสามารถฝึกได้ดีเป็นพิเศษ
          
๗. สัตถา เทวมนุสสานัง แปลว่า พระองค์ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์  ทั้งนี้หมายความว่า การสั่งสอนเพื่อมรรคผลนั้น พระองค์มิได้ทรงสั่งสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้เทวดาและพรหม พระองค์ทรงสั่งสอน การสอนมนุษย์ท่านอาจไม่สงสัย แต่การสอนเทวดานั้นท่านอาจจะแปลกใจข้อนี้ขอให้อ่านพุทธประวัติจะทราบ ว่าพระองค์ทรงสั่งสอนเทวดาและพรหมเป็นปกติเกือบทุกวันเช่นเดียวกับสอนมนุษย์เหมือนกัน
         
๘. พุทโธ แปลว่า  ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว ได้เหมือนกัน ความหมายถึงคำว่าพุทโธก็มีอย่างนี้  คือ  หมายถึงพระองค์ทรงรู้พระองค์ ด้วยความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
         
๙. ภควา แปลว่า ผู้มีโชค หมายถึงพระองค์เป็นผู้มีโชคก่อนใคร ๆ ที่พระองค์เป็นผู้รู้เท่าทันอวิชชา คือความโง่เขลาเบาปัญญา  ความโง่ไม่สามารถครอบงำพระองค์ได้ โดยอาศัยที่พระองค์ทรงค้นพบอริยสัจ ๔ จึงสามารถทำลายอำนาจอวิชชาคือความโง่ให้สลายตัวไปเสียได้ เหลือไว้แต่ความฉลาดหลักแหลม ความโง่ไม่สามารถจะบังคับบัญชาพระองค์ให้หลงใหลไปในอำนาจกิเลสและตัณหาได้ต่อไปพระองค์ทรงพบความสุขที่ยอดเยี่ยม ไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่า ความสุขที่ว่านี้ คือ พระนิพพาน
          
พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ พระอาจารย์รุ่นเก่าท่านประพันธ์ไว้ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนระลึกนึกถึง จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน คือตั้งอารมณ์ข่มนิวรณ์ปรารภถึงความดีของพระพุทธเจ้าเมื่อพระโยคาวจร คือท่านนักปฏิบัติพระกรรมฐานได้คำนึงถึงความดีของพระพุทธเจ้า ตามที่เขียนมานี้ทั้งหมด หรือข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าในลักษณะอื่น แต่เป็นไปตามแบบพระพุทธจริยาแล้ว จนจิตมีความเคยชิน  ระงับนิวรณธรรมห้าประการเสียได้ จิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิแล้ว
เจริญวิปัสสนาญาณ ท่านว่าท่านผู้นั้นสามารถจะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้   เพราะอาศัยความเลื่อมใสในพระพุทธจริยา จัดว่าเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง คือจะได้สำเร็จมรรคผลได้โดยฉับพลัน พุทธานุสสติกรรมฐานนี้ ที่กล่าวมาแล้วนั้น กล่าวตามแบบแผนที่ท่านสอน และเป็นแบบตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะอาศัยที่พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คิด จึงมีกำลัง
เพียงอุปจารฌาน ไม่สามารถจะเข้าให้ถึงระดับฌานได้ แต่ที่ท่านสอนกันในปัจจุบัน ในแบบพุทธานุสสตินี้ ท่านสอนแบบควบหลาย ๆ อย่างรวมกัน เช่น                                                                                                                                                                 แบบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
          
เริ่มต้นให้พิจารณาขันธ์ ๕ ก่อน โดยพิจารณาว่า ขันธ์  ๕ นี้  ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาท่านสอนให้รู้เรื่องของขันธ์  ๕ จนละเอียด แล้วสั่งให้พิจารณาไป ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้ถ้าพิจารณาได้ตลอดไป โดยที่จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ท่านให้พิจารณาเรื่อยไป ท่านบอกว่าพิจารณาได้ตลอดวันตลอดคืนยิ่งดี แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ เพียงแต่ท่านบอกว่า ก่อนภาวนาควรพิจารณาขันธ์เสียก่อน และไม่ต้องรีบภาวนา ถ้าใครพิจารณาจนเห็นว่าร่างกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเราไม่มีในขันธ์  ๕  ขันธ์  ๕ ไม่มีในเรา อัตภาพตัวตนเป็นเพียงธาตุ   ประชุมเป็นร่าง เป็นที่อาศัยชั่วคราวของจิต จนละความห่วงใยในขันธ์ ๕ เสียได้ โดยที่ไม่ได้ภาวนาเลยก็ยิ่งดี

          ต่อเมื่อจิตจะส่าย  พิจารณาไม่ได้ดี ท่านให้ภาวนาโดยตั้งอารมณ์ดังต่อไปนี้
          
กำหนดลมหายใจไว้สามฐาน คือ ที่จมูก อก และศูนย์เหนือสะดือ ลมจะกระทบสามฐานนี้ให้กำหนดรู้ทั้งสามฐานเพื่อลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา พร้อมกันนั้นท่านก็ให้ภาวนาว่า พุทธ ภาวนาเมื่อสูดลมหายใจเข้า โธ ภาวนาเมื่อหายใจออก แล้วท่านให้นึกถึงภาพพระพุทธที่ผู้ปฏิบัติเคารพมากจะเป็นพระพุทธรูปวัดใด องค์ใดก็ได้ตามใจสมัคร ท่านสอนดังนี้ ผู้เขียนเรียนกับท่าน ไม่เคยรู้เลยว่าตอนแรกท่านให้เจริญวิปัสสนาญาณคิดว่าเป็นสมถะ ตอนที่ภาวนา คิดว่าเป็นพุทธานุสสติล้วน ต่อมาถึงได้ทราบว่า ท่านให้กรรมฐาน ๔ อย่างร่วมกัน  คือ  ตอนพิจารณาขันธ์  ๕  เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็น
อานาปานานุสสติกรรมฐาน ตอนภาวนา เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ตอนเพ่งรูปพระเป็นกสิณ ท่านมีความฉลาดสอนรวมคราวเดียว ๔ อย่าง กำลังพุทธานุสสติมีเพียงอุปจารฌาน อานาปานและกสิณมีกำลังถึงฌาน  ๔  รู้สึกว่าท่านฉลาดสอน ท่านสอนเผื่อเหนียวไว้พร้อมมูล หากพบท่านที่มีอุปนิสัยสุกขวิปัสสโกเข้า ท่านเหล่านั้นก็พอใจในวิปัสสนาญาณ ท่านก็จะพากันได้มรรคผลไปตาม ๆ กัน                                                                                                                                                                                 แบบหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ
          
ท่านสอนแบบพุทธานุสสติควบแบบอื่นเหมือนกัน โดยท่านให้กำหนดลม ๗ ฐาน แล้วภาวนาว่าสัมมาอรหัง แล้วกำหนดดวงแก้ว ตามแบบของท่านควรวิจัยอย่างนี้ กำหนดฐานลมเป็นอานาปานานุสสติ ภาวนาเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน กำหนดดวงแก้ว เป็นอาโลกกสิณ เป็นกสิณกลาง เป็นเหตุให้ได้ทิพยจักษุญาณและได้มโนมยิทธิ รวมความว่าท่านอาจารย์ในกาลก่อนท่านฉลาดสอนเพราะท่านได้ผ่านถึง ท่านไม่ทำแบบสุกเอาเผากินและไม่ใช่สอนแบบเดาสุ่ม ขอท่านนักปฏิบัติควรทราบไว้และอย่าเอาคำภาวนาเป็นเหตุสร้างความสะเทือนใจในกันและกัน จะกลายเป็นสร้างบาปอกุศลไป                                                                                                                                                                                                      (จบบรรยายพุทธานุสสติแต่เพียงโดยย่อไว้เท่านี้)

๒. ธัมมานุสสติกรรมฐาน
          
ธัมมานุสสติกรรมฐาน  แปลว่า  ตั้งอารมณ์เป็นการงาน เป็นงานในการระลึกนึกถึงคุณพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คำว่าเป็นอารมณ์  หมายถึงให้เอาจิตใจจดจ่ออยู่ในคุณของพระธรรมเป็นปกติ ไม่เอาจิตไปนึกคิดอารมณ์อื่นนอกเหนือไปจากพระธรรม อาการที่คิดถึงคุณของพระธรรมนี้มีอารมณ์การคิดไว้มากมาย เช่นเดียวกับการคิดถึงคุณพระพุทธเจ้า เพราะพระธรรมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด ๆ  แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็มีความ
เคารพในพระธรรม เพราะพระธรรมเป็นหลักความประพฤติดี ประพฤติชอบประจำโลก การที่ พระพุทธเจ้าพระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้  ก็เพราะอาศัยพระธรรมเป็นหลักปฏิบัติฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ จึงนิยมยกย่องพระธรรมว่า เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐสรณะหนึ่ง การระลึกถึงคุณพระธรรมนี้ ท่านอาจจะเลือกเอาคำสั่งสอนตอนใดตอนหนึ่งที่ท่านชอบในบรรดาคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาเป็นอารมณ์ระลึกได้ตามชอบใจ แต่ท่านโบราณจารย์ท่านประพันธ์บทสรรเสริญ
พระธรรมไว้  ๖  ข้อ จะขอนำมากล่าวไว้พอเป็นแนวปฏิบัติ
คุณของพระธรรม
          
๑. สวากขาโต ภควาตา ธัมโม  พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้อนี้หมายถึงอาการคำนึงถึงคุณพระธรรมแบบรวม ๆ ว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อลงเหลือสาม คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีลที่บริสุทธิ์อย่างเยี่ยมสมาธิที่ตั้งมั่นอย่างยิ่งคือ สมาบัติแปด อธิปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณได้มรรคผลคือ พระโสดา สกิทาคามี อนาคามี อรหัตตผล คุณธรรม ทั้งหมดนี้ประเสริฐยอดเยี่ยม ไม่มีสิ่งอื่นใดเสมอเหมือน เพราะสามารถ
กำจัดความทุกข์ ความเดือดร้อนได้ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และมรณะไปแล้ว คุณธรรมที่เบากว่านั้น เช่นทาน การให้ ศีล รักษาวาจาใจให้สงบจากเวร สมาธิรักษาใจให้สงบจากอกุศล ๕ ประการ  คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ถีนมิทธะ ความเคลิบเคลิ้มที่ขาดสติสัมปชัญญะ และความง่วงเหงาหาวนอนในเวลาทำความดี อุทธัจจกุกกจุจะ อารมณ์หงุดหงิดฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ  วิจิกิจฉา ความสงสัยในผลของการปฏิบัติธรรม และปัญญา คือการฝึกวิปัสสนาญาณเบื้องต้น
         
คุณธรรมขนาดเบา ๆ นี้ ก็มีผลมากแก่ผู้ปฏิบัติ เพราะ
          ก. ทาน การให้  เป็นคุณธรรมที่ทำลายอารมณ์โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็นเหตุแห่งความรักความเสน่หาของผู้รับทาน  คนที่ให้ทานเป็นปกติ  ย่อมเป็นที่รักของผู้รับทานทั่วไป เป็นเหตุให้ปลอดภัยจากอันตราย
          
ข. ศีล  เมื่อรักษาดีแล้ว  ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้  ศีลผู้รักษาไว้ดีแล้วย่อมเป็นที่รักของปวงชนเพราะผู้รักษาศีลมีเมตตาเป็นปกติ  และจะมีชื่อเสียงในด้านความดีฟุ้งขจรไปทุกทิศ เมื่อเวลาใกล้จะตายจะมีสติสมบูรณ์  เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สุคติ
          
ค. สมาธิ ย่อมส่งผลให้เป็นคนมีสติสมบูรณ์ และเป็นที่รักแก่ชนทั่วไป เพราะท่านที่ทรงสมาธิย่อมกำจัดเวร คือ อกุศล ๕ ประการ มีโลภะ เป็นต้นเสียได้
          
ฆ. วิปัสสนาญาณ มีอานิสงส์ทำจิตใจให้มีความสุข เพราะจิตเคารพต่อกฎของธรรมดา เพราะรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดาทุกประการ หมดความหวั่นไหวในทุกข์ภัยที่ปรากฏ มีอารมณ์สงัดเยือกเย็นเป็นปกติ คล้ายต้นไม้ที่ไม่มีลมร้ายมาถูกต้องฉะนั้น
          
ในข้อนี้ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรมตามที่กล่าวมาโดยย่ออย่างนี้  หรือท่านจดจำพระสูตร คือคำสอนที่ยกตัวบุคคล แล้วจะคิดตามนั้น หรือท่านจะคิดตามพระธรรมข้อใดก็ได้ตามใจชอบเป็นระลึกถึงคุณพระธรรมตามข้อนี้เหมือนกัน เพราะบทสวากขาโตนี้ท่านกล่าวรวม ๆ เข้าไว้
         
๒. สันทิฏฐิโก แปลว่า ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง หมายความว่าผลของการปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่จะปฏิบัติกันไปตามเรื่อง ผลของการปฏิบัติธรรมนี้เป็นความสุขใจ ท่านปฏิบัติจริงจะได้รับผลจริงในชาตินี้
         
๓. อกาลิโก แปลว่า ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย หมายถึงผลของการปฏิบัติธรรมนี้ ได้รับผลทุกขณะที่ปฏิบัติ ไม่จำกัดกาลเวลาว่า จะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ ตัวอย่างเช่นผู้ปฏิบัติธรรมในด้านพรหมวิหาร ท่านที่ทรงพรหมวิหาร ย่อมประทานความรักให้แก่คนและสัตว์ไม่เลือกหน้า ท่านไม่ถือโกรธใครพบคนควรไหว้ท่านก็ไหว้  พบคนควรให้ท่านก็ให้ ท่านมีหน้ายิ้มตลอดเวลา ท่านลองคิดดูว่าถ้าท่านพบคนอย่างนี้เข้า ท่านควรจะรักเคารพหรือท่านควรจะคิดประทุษร้าย ขอให้ท่านคิดเอาเองผลของการปฏิบัติธรรมได้ผลไม่จำกัดกาลเวลาอย่างนี้ และในสมัยนี้มีคนพูดกันมานานว่า เวลาล่วงมาขณะนี้พระอริยะไม่มีแล้ว ท่านอย่าเชื่อเขาเลย เพราะคุณของพระธรรมยืนยันอยู่อย่างนี้ว่า ผลแห่งการบรรลุมีได้ไม่เลือกกาลเวลา ขอให้ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรงตามคำสั่งสอนเถอะ และปฏิบัติพอดี อย่าเกียจคร้านเกินไปและอย่าขยันเกินไป รับรองว่าท่านต้องการคุณธรรมขนาดไหน ก็มีหวังได้ทุกขนาด
และไม่จำกัดกาลเวลา
          
๔. เอหิปัสสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู ข้อนี้ท่านกล้าท้าทายว่า การปฏิบัติธรรมนั้นของท่านกล้ายืนยันผล ขอให้ทำถูก ทำตรง ทำพอดีเถอะ ท่านรับรองผลว่า ต้องได้รับผลแน่นอน ขออย่างเดียว ขอให้เอาจริงเท่านั้น อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คนไม่จริงพระธรรมท่านก็ไม่จริงด้วยถ้าผู้ปฏิบัติจริง ผลของพระธรรมท่านก็ให้จริง ขอให้จริงต่อจริงพบกันเถอะ แล้วจะได้รับผลสมความ
มุ่งหมาย
         
๕. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา ท่านหมายความว่า ผู้หวังผล คือความสุขทางใจสุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไปแล้ว  เชิญเข้ามาฝึกได้ ไม่จำกัดกาลเวลา  ไม่จำกัดเพศและวัยไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนา ถ้าเข้ามาจริง ปฏิบัติจริง ท่านรับรองว่าต้องได้ผลจริง
         
๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน คำว่า วิญญู หมายถึงท่านผู้รู้  คือผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ผลเองว่า การปฏิบัติพระธรรมนี้มีผล คือความสุขอันประณีต และมีความเยือกเย็นใจเป็นพิเศษ มีความสุขประณีตกว่าความสุขอันเกิดขึ้นจากโลกวิสัยหลายพันล้านเท่า
 

(บทพระธรรมคุณ คือธรรมมานุสสติ ขออธิบายแต่โดยย่อเพียงเท่านี้)

๓. สังฆานุสสติกรรมฐาน
          
สังฆานุสสติกรรมฐาน  แปลว่า ตั้งอารมณ์ให้เป็นการเป็นงานในการระลึกถึง
คุณพระสงฆ์ เป็นอารมณ์ การระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์นี้ ท่านให้คิดถึงความดีของพระสงฆ์ ในส่วนที่เป็นความดีอันเป็นเนื้อแท้ของพระศาสนา ไม่ใช่คิดถึงความดีอันเป็นส่วนประกอบที่ไม่เข้าถึงพระศาสนา เช่น เห็นว่าท่านมีเครื่องรางของขลัง คือของคงกระพันชาตรี ท่านเป็นหมอรดน้ำมนต์ ท่านให้หวยเก่ง ท่านเป็นหมอดูแม่น ท่านทำเสน่ห์เก่ง ท่านเล่นหมากรุกเก่ง ท่านมีวิทยาคมต่างๆ เช่น เสกอะไรต่ออะไรเก่ง ความเก่งอย่างนั้นของท่านเป็นความเก่งนอกความหมายในที่นี้ เพราะเป็นความเก่งที่ยังไม่เข้าถึงจุดเก่งทางศาสนา เป็นความเก่งเปลือกที่ยังเอาตัวไม่รอดยังไม่ควรจะเอามาคิดมานึกให้เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน ความเก่งในการที่นักกรรมฐานควรเอามาคิดก็คือ
          
๑. ท่านเก่งในทางปฏิบัติ จนได้บรรลุพระโสดา พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ อย่างนี้เป็นเนื้อแท้ของความเก่งในเนื้อแท้ของพระสาวกในพระพุทธศาสนาและเป็นความเก่งที่ควรบูชาและระลึกถึงเป็นอารมณ์
          
๒. ความเก่งอีกอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่ควรเอามาคิดเอามาบูชาก็คือ ท่านเองได้บรรลุมรรคผลแล้ว ท่านมิได้แสวงหาความสุขเพราะผลการบรรลุนั้น เฉพาะตัวท่าน ท่านกลับพลีความสุขที่ท่านควรได้รับนั้น นำพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านได้รับผลแล้ว มาสั่งสอนบรรดาพุทธบริษัท อย่างที่ไม่เห็นแก่ผลตอบแทนใด  
          
การที่ระลึกถึงความดีของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามแบบก็คือ
          ก. สุปฏิปันโน       ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
         
ข. อุชุปฏิปันโน      ท่านเป็นผู้ปฏิบัติตรง
          
ค. ญายปฏิปันโน    ท่านปฏิบัติเป็นธรรม
         
ง. สามีจิปฏิปันโน   ท่านเป็นผู้ปฏิบัติสมควร
         
ทั้งนี้หมายความว่า ท่านปฏิบัติดี  ปฏิบัติตรง ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนจริง  ไม่แก้ไขดัดแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ท่านปฏิบัติสมควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง เพราะท่านปฏิบัติตนจนได้บรรลุมรรคผลที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ การบูชาและระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ต้องระลึกตามตามนัยนี้ จึงจะตรงตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า
          
ตามที่ท่านสอนให้เจริญใน พุทธานุสสติ  ธัมนานุสสติ  สังฆานุสสติ ก็เพื่อให้คิดตามความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เพราะการคิดตามความดีของท่านที่มีความดีอยู่เสมอๆจนขึ้นใจนั้น  เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นในผลของความดี  และ ปสาทะ  ความเลื่อมใส  ปีติ ความเอิบอิ่มใจ ความคิดคำนึงอย่างนี้เป็นปกติตลอดไป ย่อมเป็นเครื่องจูงใจให้ปฏิบัติตาม  เมื่อใดได้ลงมือปฏิบัติตามแล้ว  ผลที่มีศรัทธาอยู่แล้ว  ย่อมเป็นกำลังใจให้ได้สำเร็จมรรคผลได้อย่างไม่มีอะไร
เป็นเครื่องหนักใจนัก                                                                                                                                                                                                                                                         (ขอยุติสังฆานุสสติโดยย่อแต่เพียงเท่านี้) 

๔. สีลานุสสติกรรมฐาน 
          
สีลานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์ คำว่าศีล  แปลว่า ปกติ สิกขาบทของศีล เป็นสิกขาบทที่บังคับให้เป็นไปตามปกติของความรู้สึกและพอใจของมวลชนโลก ทั้งที่เป็นสัตว์และมนุษย์ จะได้พูดให้ฟังแต่โดยย่อ
          
ปกติของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมาร่วมโลกนี้ แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา  ต่างเพศต่างตระกูลกันเพียงใดก็ตาม สิ่งที่มีความปรารถนาเสมอกันเป็นปกติ มีอยู่ ๕ ข้อ คือ
          
๑. ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่าตน และไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาทำร้ายร่างกาย แม้ไม่ถึงตายก็ตาม
          
๒. ไม่ต้องการให้ใครมาลักขโมย หรือยื้อแย่ง หลอกลวงเอาทรัพย์ของตนไปโดยที่ตนไม่เต็มใจอนุญาต
          
๓. ไม่มีความประสงค์ให้ใครมาทำลายหัวใจในด้านความรัก จะเป็นสามีภรรยา บุตร หลานหรือแม้แต่คนในปกครองที่มิใช่บุตรหลาน โดยที่ตนเองยังไม่เห็นชอบด้วย
          
๔. ไม่ปรารถนาให้ใครมาใช้วาจาที่ไม่ตรงความจริง ในเมื่อในขณะนั้นต้องการรู้เรื่องราวตามความเป็นจริง
          
๕. ไม่ต้องการให้ใครเห็นว่าตนเป็นคนบ้า  บอ   ด้วยอาการที่เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายเพราะเหตุใดก็ตาม
          
เมื่อความต้องการของปวงชาวโลกทั้งที่เป็นมนุษย์และสัตว์ มีความปรารถนาเสมอกันเป็นปกติอย่างนี้  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทตามความต้องการเป็นปกติของชาวโลกไว้ ๕ ข้อ ที่เรียกว่า  ศีล ๕ หรือปกติศีล ส่วนศีล ๘ หรือเรียกว่าศีลอุโบสถ มีสิกขาบท ๘ เหมือนกันหรือศีล ๑๐ ของสามเณร ศีล๒๒๗ ของพระ ศีล ๓๑๑ ของนางภิกษุณี ก็เป็นศีลที่บัญญัติตามปกติของท่านนั้นๆ  การที่ท่านสอนให้ระลึกถึงศีลเนืองๆ นั้น หมายถึงให้สำรวมใจ ระมัดระวังความประพฤติศีล
เพื่อมิให้ศีลบกพร่อง เพราะศีลเป็นบาทที่จะสนับสนุนใจให้เข้าถึงสมาธิ ศีลนี้ผู้ใดปฏิบัติไม่ขาดตกบกพร่องแล้วย่อมมีอานิสงส์คือ จะไม่ได้รับความเดือดร้อน เพราะอำนาจอกุศลกรรมจะเป็นที่รักของปวงชน จะมีเกียรติคุณความดีฟุ้งไปในทิศานุทิศ จะเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ ในเมื่อมีคนโจษจันถึงเรื่องศีล เมื่อใกล้จะตายอารมณ์จิตจะผ่องใส อกุศลกรรมไม่สามารถเข้ามาข้องได้ เมื่อตายแล้วจะได้เกิดในสวรรค์ ก่อนตายศีลนี้จะเป็นสะพานใหญ่ให้อารมณ์สมาธิหลั่งไหลมาสู่จิต จะทำให้จิตตั้งมั่นในสมาธิ เป็นพื้นฐานให้ได้วิปัสสนาญาณ ได้ถึงพระนิพพานในที่สุด ท่านที่คิดถึงศีลและระมัดระวังรักษาศีลเป็นปกติ แล้วใคร่ครวญพิจารณาศีลเป็นปกติอย่างนี้ ท่านว่าจะมีอารมณ์สมาธิถึงอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิเป็นที่สุด เมื่อเข้าถึงสมาธิตามที่กล่าวแล้ว ถ้าท่านน้อมเอาวิปัสสนาญาณมาพิจารณา ท่านก็จะได้บรรลุมรรคผลภายในไม่ช้า

(ขอยุติสีลานุสสติไว้แต่โดยย่อเพียงเท่านี้)

๕. จาคานุสสติกรรมฐาน
          
จาคานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงการบริจาคทานเป็นนิตย์ กรรมฐานกองนี้ท่านแนะให้ระลึกถึงการให้เป็นปกติ ผลของการให้เป็นการตัด มัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัด โลภะ ความโลภ ซึ่งจัดว่าเป็นกิเลสตัวสำคัญไปได้ตัวหนึ่ง กิเลสประเภทรากเหง้าของกิเลสมีสาม คือ
          
๑. ความโลภ
          
๒. ความโกรธ
          
๓. ความหลง
          
ความโลภ ท่านสอนไว้ว่า ตัดได้ด้วยการบริจาคทาน เพราะการบริจาคทานเป็นการเสียสละที่มีอารมณ์จิตประกอบด้วยเมตตา การให้ทานที่ถูกต้องนั้น ท่านสอนให้ ๆ ทานด้วยความเคารพในทาน คือ ให้ด้วยความเต็มใจและให้ด้วยอาการสุภาพ ก่อนจะให้ให้ทำความพอใจ มีความยินดีในเมื่อมีโอกาสได้ให้ โดยคิดว่า ขณะนี้เราได้มีโอกาสทำลายล้างโลภะ ความโลภ อันเป็นรากเหง้าของกิเลสได้แล้ว มหาปุญญลาโภ บัดนี้ลาภใหญ่มาถึงเราแล้ว คิดแล้วก็ให้ทานด้วยความเคารพในทาน ผู้รับนั้นจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นผู้มีร่างกายบริบูรณ์ หรือทุพพลภาพก็ตาม  ขอให้มีโอกาสได้ให้ก็ปลื้มใจแล้ว เมื่อให้ทานไปแล้วทำใจไว้ให้แช่มชื่นเป็นปกติเสมอ  เมื่อมีโอกาสได้คิดถึงทานที่ตนให้โดยคิดตามความเป็นจริงว่า การให้ทานนี้  ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นของดีนั้น เราเห็นความดีแล้วดังนี้ ในชาติปัจจุบันผลทานนี้ย่อมให้ความสุขแก่ผู้รับทาน เพราะผู้รับมีโอกาสเปลื้องทุกข์ของตนได้ด้วยทานที่เราให้ สำหรับเราผู้ให้ ก็มีโอกาสได้รับผลในปัจจุบันคือ ได้มีโอกาสทำลายโลภะ ความโลภ
ตัวกิเลสที่ถ่วงไม่ให้ถึงนิพพาน  บัดนี้เราตัดความโลภคือรากเหง้าของกิเลสตัวที่ ๑ ได้แล้ว ความเบาได้เกิดมีแก่เราแล้ว ๑ เปลาะ คงเหลือแต่ความโกรธและความหลง ซึ่งเราจะพยายามตัดต่อไป ทานยังให้ผลต่อไป คือผลทาน เป็นผลสร้างมิตร สร้างความสุขสงบ เพราะผู้รับทานย่อมรู้สึกรัก และระลึกถึงคุณผู้ให้อยู่เป็นปกติ ผู้รับทานย่อมพยายามโฆษณาความดีของผู้ให้ในที่ทุกสถาน เมื่อผู้ให้เป็นที่รักของผู้รับแล้ว  ความปลอดภัยของผู้ให้ก็ย่อมมีขึ้นจากผู้รับทาน  เพราะผู้รับจะคอยป้องกันอันตรายให้ตาม
สมควร ยิ่งให้มาก คนที่รักก็ยิ่งมีมาก ความปลอดภัยก็มีมากขึ้นเป็นธรรมดา ผู้ให้ทานย่อมมีอานิสงส์ที่ได้รับในชาติปัจจุบันอีกคือ  ย่อมมีโอกาสได้รับโชคลาภที่เป็นของกำนัล  เป็นเครื่องบำรุงเสมอผู้ให้ทานเป็นปกติ จะไม่ขาดแคลนฝืดเคืองในเรื่องการใช้สอยเมื่อใกล้จะขาดมือ หรือมีความจำเป็นสูงจะมีผลได้เป็นการชดเชยให้พอเหมาะพอดีแก่ความจำเป็นเสมอ  นี่พูดตามผลที่ประสบมาในชาติปัจจุบัน สำหรับอนาคตท่านว่าผู้ที่บำเพ็ญทานเสมอ  นั้น  จิตใจจะชุ่มชื่นแจ่มใสเมื่อใกล้จะตายเมื่อตายแล้วทานจะส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์  มีทิพยสมบัติมากมาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่บริบูรณ์พูนสุขด้วยสมบัติ นี่ว่ากันตามอานิสงส์ พูดกันตามความประสงค์แล้ว การระลึกถึงทาน ก็มุ่งทำลายล้างโลภกิเลสเป็นสำคัญท่านสอนให้คิดนึกถึงทานที่ให้แล้วไว้เสมอ ๆ และทำความปลื้มใจในการให้และคิดไว้อีกเช่นเดียวกันว่าเราพร้อม ที่จะให้ทานตามกำลังศรัทธาทุกโอกาสที่มีคนมาขอ  เพราะเราต้องการทำลายโลภะให้สิ้นไปเพื่อผลใหญ่ที่จะพึงได้  คือพระนิพพานในกาลต่อไป ท่านที่ยินดีในทานเป็นปกติอย่างนี้จิตย่อมบริบูรณ์ด้วยเมตตาและกรุณาอันเป็นพรหมวิหาร ท่านว่าเพราะผลทานและพรหมวิหารร่วมกันมีบริบูรณ์แล้วจิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ  ต่อนั้นไปถ้าได้ เจริญวิปัสสนาญาณ โดยใช้อุปจารฌานเป็นบาทแล้วจะได้บรรลุมรรคผลได้อย่างฉับพลัน 
                                                                                                                                                                                                                             (
จบจาคานุสสติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้)

๖. เทวตานุสสติกรรมฐาน
          
เทวตานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์  ความจริงทางศาสนาเรานี้พระพุทธเจ้ายอมรับนับถือเรื่องเทวดา พระองค์เองทรงปรารภแก่บรรดาพุทธสาวกเรื่องเทวดาเสมอ ขอให้ดูตามพุทธประวัติจะพบว่า พุทธศาสนาไม่เคยห่างเทวดาเลยจะเขียนให้ละเอียด ในที่นี้ก็เกรงจะเฟ้อเกินไปขอย้ำว่า พระพุทธศาสนายอมรับนับถือว่าเทวดามีจริง และยอมรับนับถือความดีของเทวดาด้วย พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสให้พุทธบริษัทที่มีบารมียังอ่อน ให้ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นปกติ เช่น กรรมฐานข้อที่ว่าด้วย เทวตานุสสติ ก็เป็นพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึงความดีของเทวดา
ความดีของเทวดา
          
เทวดา แปลว่า ผู้ประเสริฐ ความประเสริฐของเทวดามีอย่างนี้ ถ้าพูดกันตามความนิยมแล้วท่านที่จะเป็นเทวดาก็ต้องเกิดเป็นคนก่อน เมื่อเป็นคนก็ต้องศึกษาหลักสูตรของเทวดาว่าจะเป็นเทวดานั้นต้องเรียนรู้และปฏิบัติอะไรบ้าง หลักสูตรที่ทำคนให้เป็นเทวดานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า มี ๒ แบบ คือ
เทวดาประเภทที่ ๑
          
เทวดาแบบที่  ๑  เป็นเทวดาชั้นกามาวจร  คือ 

๑ ชั้นจาตุมหาราช   สวรรค์ชั้นนี้ประกอบด้วยเทพนคร ๔ นคร ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ ของเชิงเขาสุเมรุ แต่ว่าลอยอยู่ในอากาศ โดยมีท้าวมหาราชปกครองในแต่ละนคร หากไม่นับพวกภุมมเทวดาคือเทวดาที่อยู่บนพื้นที่ต่างๆ เช่น เทวาอารักษ์ พระภูมิ พระแม่ธรณี   พระแม่คงคา รุกเทวดา เป็นต้น สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาก็นับเป็นสวรรค์ชั้นแรกที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือท้าวจตุโลกบาลปกครองได้แก่ ท้าวธตรฐ จอมแห่งคนธรรพ์ ปกครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก จอมแห่งกุมภัณฑ์(จอมแห่งอสูร) ปกครองทิศใต้                                                         ท้าววิรูปักษ์ จอมแห่งนาค ปกครองทิศตะวันตก ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ จอมแห่งยักษ์ ปกครองทิศเหนือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔    นั้นแต่ละองค์มีฤทธานุภาพเกรียงไกรมีเกียรติคุณแผ่ไพศาล มีทิพยสมบัติและล้วนเป็นธรรมิกราชคือผู้ทรงธรรมปกครองเทพบริวารโดยธรรม ตลอดช่วยคุ้มครองโลกด้วย  อายุของเทพเทวาชั้นนี้ ๕๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๙ ล้านปีโลกมนุษย์  ๕๐ ปีโลกมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนี้

 ๒ ชั้นดาวดึงส์  สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของมหาเทพ ๓๓ องค์ และพระอินทร์ มีท้าวสักกะมหาราช จอมแห่งเทพเป็นประธาน  บางที่เรียกว่าสวรรค์ชั้นไตรตรึงส์ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ตั้งอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ เป็นนครที่กว้างใหญ่ไพศาล มีกำแพงแก้วมณีล้อมรอบ อายุของเทพชั้นนี้ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์หรือ ๓๖ ล้านปีโลกมนุษย์ ๑๐๐ปีโลกมนุษย์เท่ากับ วันหนึ่งกับคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนี้                                                                                                                                                                                       

๓ ชั้นยามา สวรรค์ชั้นนี้เป็นดินแดนที่สถิตของเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามเป็นผู้ปกครอง กล่าวกันว่าสวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ขึ้นไปไกลแสนไกล และมีปราสาทเงินปราสาททองมากมาย เป็นที่สถิตของทวยเทพทั้งปวง มีอุทยานสวรรค์มากมาย  ล้วนเป็นสถานที่รื่นรมย์ทั้งสิ้น เทพยดาบนสวรรค์ชั้นนี้ต้องอาศัยแสงสว่างจากรัตนะต่างๆและมีรัศมีกายของตน เพราะไม่มีแสงสว่างทั้งจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เนื่องจากอยู่ห่างไกลกันมาก อายุของเทพชั้นนี้ประมาณ ๒ พันปีทิพย์ หรือ ๑๔๔  ล้านปีโลกมนุษย์ ๒๐๐ ปีโลกมนุษย์เท่ากับ วันหนึ่งกับคืนหนึ่งโลกมนุษย์ของสวรรค์ชั้นนี้                                                                                                                                                                                       

๔ ชั้นดุสิต สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของเทพผู้อิ่มเอิบด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ  ถือกันว่าเป็นที่อุบัติของพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า สวรรค์ชั้นนี้เป็นเทพนครที่กว้างใหญ่ไพศาลตั้งอยู่เหนือชั้นยามาไปไกลแสนไกล  มีวิมานเป็นปราสาท ๓ อย่าง คือ วิมานแก้ว วิมานทอง วิมานเงิน ตั้งอยู่เรียงรายนอกจากนี้ยังมีสระโบกขรณีและอุทยานทิพย์อีกมากมาย สำหรับเป็นสถานที่รื่นรมย์ของทวยเทพในสวรรค์ชั้นนี้ อายุของเทพชั้นนี้ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๕๗๖ ล้านปีโลกมนุษย์ ๔๐๐ ปีโลกมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนี้                                                                                                                                                                                      

๕ ชั้นนิมมานรดี สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของเทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ เป็นนครอันกว้างใหญ่ไพศาลประกอบด้วยปราสาทเงิน ปราสาทแก้ว ปราสาททอง และสระโบกขรณีอุทยานมากมาย เทพที่อยู่บนชั้นนี้มีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมเนรมิตได้เองทุกอย่าง แม้นางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้สร้างวัดบุพพารามถวายพระพุทธเจ้าก็ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ อายุของเทพชั้นนี้ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๒,๓๐๔ ล้านปีโลกมนุษย์ ๘๐๐ ปีโลกมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนี้                                                                                                                                                                               

๖ ชั้นปรนิมมิตตวสวัสดี สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของเทพผู้มีอำนาจในสมบัติที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กล่าวคือ เทวดาที่อยู่บนสวรรค์ชั้นนี้ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ต้องเนรมิตเอง แต่มีเทวดาพวกอื่นเนรมิตให้ สวรรค์ชั้นนี้มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ สวรรค์ชั้นนี้เป็นเทพนครที่กว้างใหญ่ไพศาล และแบ่งออกเป็น ๒ แดน คือ                                                                                                         ๑ แดนแห่งเทพยดา  ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพยดาทั้งหลาย มีท้าวปรนิมมิตเทวราชเป็นผู้ปกครอง                                                                                                                                                                                                        ๒ แดนแห่งมาร เป็นที่สถิตแห่งพญามารทั้งหลาย มีท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราชเป็นผู้ปกครอง                                                                                                     

ท้าวปรนิมมิตวสมัตตี นั้นแบ่งภาค ปกครองทั้งเหล่าเทพและเหล่ามารให้เป็นสัดส่วนไม่เป็นศัตรูเบียดเบียนกัน อายุของเทพชั้นนี้ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๙,๒๑๖ ล้านปีโลกมนุษย์ ๑,๖๐๐ ปีโลกมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนี้               รวม  ชั้นด้วยกัน ทั้ง  ชั้นนี้ บวกภูมิเทวดาที่เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ และรุกขเทวดา พวกเทวดาที่มีวิมานอยู่ตามสาขาของต้นไม้  ที่เรียกว่านางไม้ เข้ากับเทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดา ๖ ชั้นนี้ ท่านว่าใครจะไปเกิดในที่นั้น  เพื่อเป็นเทวดา ต้องศึกษาและปฏิบัติตามเทวดา หลักสูตรเสียก่อน คือท่านให้เรียนรู้ เทวธรรม ที่ทำตนให้เป็นเทวดา ได้แก่
          
๑. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
          
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
          
ทั้งนี้ก็หมายความว่าต้องเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานี ตลอดกาลตลอดสมัย ถึงแม้ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไร เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ มีจิตเมตตาปรานีใช้ได้ ท่านว่าใครศึกษาและปฏิบัติหลักสูตรนี้ได้ครบถ้วน เกิดเป็นเทวดาได้ ปฏิบัติได้อย่างเลิศ ก็เป็นเทวดาชั้นเลิศ ถ้าปฏิบัติได้ อย่างกลางก็เป็นเทวดาปานกลาง ถ้าปฏิบัติได้ครบแต่หยาบ ก็เป็นเทวดาเล็ก ๆ  เช่น ภูมิเทวดา หรือ รุกขเทวดา  พระพุทธเจ้าท่านตรัสหลักสูตรของเทวดาประเภทที่  ๑ ไว้อย่างนี้ ท่านผู้อ่านจงจำไว้ให้ขึ้นใจจะได้ไม่สงสัยเรื่องเทวดา
เทวดาประเภทที่
          
เทวดาประเภทที่ ๒ นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "พรหม" ท่านจัดพรหมรวมหมด ๒๐ ชั้น ด้วยกัน ท่านแยกประเภทไว้ดังนี้

รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น
          
รูปพรหม คือ พรหมที่มีรูปนี้ ท่านแบ่งไว้เป็น ๑๖ ชั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ พรหมที่ได้ฌานโลกีย์ ท่านจัดไว้ ๑๑ ชั้น กับพรหมที่เป็นพระอนาคามี และได้ฌาน ๔ ด้วย ๕ ชั้น รวมพรหมที่มีรูป ๑๖ ชั้น                                                                                          

พรหมชั้นที่ ๑ คือ  พรัหมะปาริสัชชา          พรหมชั้นที่ ๒ คือ  พรัหมมะปะโรหิตา          พรหมชั้นที่ ๓ คือ  มะหาพรัหมา           พรหมชั้นที่ ๔ คือ  ประริตตาภา                       พรหมชั้นที่ ๕ คือ  อัปปะมาณาภา                   พรหมชั้นที่ ๖ คือ   อาภัสสะรา            

พรหมชั้นที่ ๗ คือ  ปะริตตะสุภา                 พรหมชั้นที่ ๘ คือ  อัปปะมาณะสุภา               พรหมชั้นที่ ๙ คือ  สุหะกิณหะกา            พรหมชั้นที่ ๑๐ คือ  อะสัญญิสัตตา                 พรหมชั้นที่ ๑๑ คือ  เวหัปผะลา                       พรหมชั้นที่ ๑๒ คือ  อะวิหา                

พรหมชั้นที่ ๑๓ คือ  อะตัปปา                       พรหมชั้นที่ ๑๔ คือ  สุทัสสา                             พรหมชั้นที่ ๑๕ คือ  สุทัสสี                     พรหมชั้นที่ ๑๖ คือ  อะกะนิฏฐะกา                                                                                                                                                                                      

อรูปพรหม ๔ ชั้น

พรหมที่ไม่มีรูปนี้ เป็นโลกียพรหม มีหมดด้วยกัน  ๔  ชั้น รวมพรหมทั้งหมด  ๒๐  ชั้นพอดี
หลักสูตรที่จะไปเป็นพรหม

          
การที่จะเกิดเป็นพรหม ต้องศึกษาและฝึกตามหลักวิชชาให้ได้ครบถ้วนเสียก่อน ถ้าสอบตกเป็นไม่มีทางได้เกิดเป็นพรหม  จะยัดเงินอุดทอง วิ่งเข้าหาเทวดาหรือพรหมองค์ใดให้ช่วยนั้นไม่มีหวังต้องใช้ความสามารถจริง  จึงจะไปได้ การสอบเป็นเทวดาหรือพรหมไม่มีคอรัปชั่น ท่านสอนกันอย่างนี้เดี๋ยวก่อน ก่อนบอกวิธีสอบ ขอบอกไว้ด้วยว่า กรรมการตรวจสอบนั้นไม่มี ต้องตรวจเองสอบเอง ถ้าสอบได้ก็เป็นพรหมทันที ถ้าสอบไม่ได้อาจต้องเป็นคนอยู่ต่อไป หรือเป็นเทวดา หรือไม่ก็ลงนรกไปเลยสุดแล้วแต่ใครจะมีกรรมอะไรเป็นเครื่องส่ง ก่อนจะพูดถึงหลักสูตรพรหม ขอพูดถึงหลักสูตรต่ำไปหาพรหมก่อน
เพราะจะได้รู้ไว้เป็นเครื่องประดับ
หลักสูตรอบายภูมิ

          
อบายภูมิหมายถึงดินแดน  นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน ใครจบหลักสูตรนี้ จะได้ไปเกิดในที่ ๔ สถานนี้ หลักสูตรนี้มีดังนี้ คือไม่รักษาศีล ไม่ให้ทาน ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ เท่านี้ไปเกิดในอบายภูมิได้สบาย ไม่มีใครขัดคอ
หลักสูตรเกิดเป็นมนุษย์
          
หลักสูตรมนุษย์นี้ ท่านเรียกมนุษยธรรม  คือธรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์มี ๕ อย่าง คือ
          
๑. ไม่ฆ่าสัตว์ และไม่ทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วยเจตนา
          
๒. ไม่ถือเอาของของผู้อื่นที่เขาไม่อนุญาตให้ ด้วยเจตนาขโมย
          
๓. ไม่ละเมิดสิทธิในกามารมณ์ที่เจ้าของไม่อนุญาต คือไม่ละเมิดภรรยา สามี  ลูก หลาน และคนในปกครอง ที่ผู้ปกครองไม่อนุญาต
          
๔. ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อ โดยไร้สาระ
          
๕. ไม่ดื่มสุราและเมรัย ที่ทำจิตใจให้มึนเมาไร้สติสัมปชัญญะ
          
ตามหลักสูตรนี้ ถ้าใครสอบได้ คือปฏิบัติได้ครบถ้วนท่านว่าตายแล้วเกิดเป็นมนุษย์ได้
หลักสูตรรูปพรหม

          
๑. ได้ฌานที่  ๑  เกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๑,  ,  
         
๒. ได้ฌานที่  ๒  เกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๔, ,  
          
๓. ได้ฌานที่  ๓  เกิดเป็นพรหมชั้นที่  , ,
          
๔. ได้ฌานที่  ๔  เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐, และ ๑๑
          
ทั้งหมดนี้เป็นพรหมชั้นโลกีย์

อรูปภูมิมี 4 ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมในชั้นนี้ไม่มีรูปร่าง มีแต่จิตเจตสิก เพราะเห็นว่าหากมีร่างกายอยู่นั้นจะมีแต่โทษ อาจจะไปทำร้ายซึ่งกันและกันได้ จึงบริกรรมด้วยความว่างเปล่า ยึดเอาอากาศซึ่งเป็นความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ จนได้ฌานที่มีอากาศเป็นอารมณ์เรียกว่า อากาสานัญจายตนภูมิ ซึ่งมีอายุอยู่ได้สองหมื่นกัปป์ จากนั้นก็อาจภาวนาเพื่อจะได้ไปอยู่ในพรหมโลกขั้นสูงต่อไปอีกได้ อายุของพรหมเหล่านี้จะยืนอยู่ได้สี่หมื่น หกหมื่น และแปดหมื่นสี่พันกัปป์ ตามลำดับ

ชั้นที่ 17 อากาสานัญจายตนภูมิ

ชั้นที่ทรงอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอา อากาศ เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งอยู่แห่งพระพรหม ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติ ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ตั้งอยู่พ้นจากอกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 20000 มหากัป

ชั้นที่ 18 วิญญาณัญจายตนภูมิ

ชั้นที่ทรงภาวะวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึด วิญญาณ เป็นอารมณ์ พ้นจากอากาสัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ วิญญาณัญจายตนภูมิ เป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย วิญญาณบัญญัติ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยวิญญาณัญจายตนวิบากจิต มีอายุแห่งพรหมประมาณ 40000 มหากัป

ชั้นที่ 19 อากิญจัญญายตนภูมิ

ชั้นที่ทรงภาวะไม่มีอะไรเลย ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอาความไม่มีอะไรเลย เป็นอารมณ์ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยอากิญจัญญายตนวิบากจิตพ้นจากวิญญานัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 60000 มหากัป

ชั้นที่ 20 เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

ชั้นที่ทรงภาวะที่มีสัญญาไม่ปรากฏชัด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้เข้าถึงภาวะมี สัญญา ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้เกิดจากฌานที่อาศัย ความประณีตเป็นอย่างยิ่ง พระพรหมวิเศษแต่ละองค์ในชั้นสูงสุดนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สำเร็จยอดแห่งอรูปฌาน คืออรูปฌานที่ 4 มาแล้ว มีอายุยืนนานเป็นที่สุดด้วยอำนาจแห่ง อรูปฌานกุศลอันสูงสุดที่ตนได้บำเพ็ญมา เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิตทั้ง อยู่พ้นจากอากิญจัญญายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 84000 มหากัป          

๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน
          
กายคตานุสสติ แปลว่า พิจารณากายให้เห็นว่า ไม่สวยไม่งาม มีความโสโครกตามกฎแห่งความเป็นจริงเป็นอารมณ์ กายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานสำคัญที่พระอริยเจ้าทุกองค์ไม่เคยเว้น เพราะพระอริยเจ้าก่อนแต่จะได้สำเร็จมรรคผล ทุกท่านนิยมพิจารณาให้เห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก น่ารังเกียจ เพราะมีสภาพน่าสะอิดสะเอียนตามปกติเป็นอารมณ์  และกายคตานุสสตินี้ เป็นกรรมฐานพิเศษกว่ากรรมฐานกองอื่น ๆ เพราะถ้าพระโยคาวจรพิจารณาตามกฎของกายคตานุสสติ ผลที่ได้รับจะเข้าถึงปฐมฌาน แต่ถ้ายึดสีต่าง ๆ ร่างกายที่ปรากฏมีสีแดงของเลือดเป็นต้น ยึดเป็นอารมณ์ในการเพ่งเป็นกสิณ กรรมฐานกองนี้ก็มีผลได้ฌาน  ตามแบบของกสิณ
          
การพิจารณาท่านเขียนไว้ในวิสุทธิมรรควิจิตรพิศดารมาก จะไม่ขอกล่าวตามจนละเอียดขอกล่าวแต่เพียงย่อ  พอได้ความ หากท่านนักปฏิบัติมีความข้องใจ หรือสนใจในความละเอียดครบถ้วน ก็ขอให้หาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะเข้าใจละเอียดมากขึ้น  ตามแนวสอนในวิสุทธิมรรคท่านให้พิจารณาอาการ ๓๒ คราวละ ๕ อย่าง เช่น พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ รวม   อย่างเป็นหมวดหนึ่ง ท่านให้พิจารณาตามลำดับและย้อนกลับ เช่น พิจารณาว่า เนื้อ หนัง  ฟัน เล็บ ขน ผม ย้อน
จากปลายมาต้น เรียกว่าปฏิโลม คือถอยกลับ ให้พิจารณาทั้งสีและสัณฐาน สภาพตามความเป็นจริงว่าไม่มีอะไรสวยงาม เพราะมีความสกปรกโสโครกอยู่เป็นปกติ ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณอยู่เสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่คอยประคับประคองอยู่เพียงใด สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะมีการแปดเปื้อนสกปรกอยู่เสมอ เช่น ผมต้องคอยหวี คอยสระชำระอยู่ทุกวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจเพียง ๓ วัน เหงื่อไคลก็จะจับทำให้เหม็นสาบ เหม็นสาง รวมกายทั้งกายนี้ ท่านแสวงหาความจริงจากกายทั้งมวลว่า มันสวยจริง สะอาดจริงหรือไม่ ค้นคว้าหา
ความจริงให้พบ กายทั้งกายที่ว่าสวยน่ารักนั้นมีอะไรเป็นความจริง ความสวยของร่างกายมีความจริงเป็นอย่างนี้ ร่างกายทั้งกายที่ว่าสวยนั้น ไม่มีอะไรสวยจริงตามที่คิด เพราะกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งโสโครกคืออวัยวะภายใน มีตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ กระเพาะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำดี อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล ที่หลั่งไหลออกมาภายนอกนั้น ความจริงขังอยู่ภายในของร่างกาย ที่มีหนังกำพร้าหุ้มห่ออยู่ ถ้าลอกหนังออก จะเห็นร่างนี้มีเลือดไหลโทรมทั่วกาย เนื้อที่ปราศจากผิวคือหนังหุ้มห่อ จะมองไม่เห็น
ความสวยสดงดงามเลย ยิ่งมีเลือดหลั่งไหลทั่วร่างแล้ว ยิ่งไม่น่าปรารถนาเลย แทนที่จะน่ารัก น่าประคับประคอง กลับกลายเป็นของน่าเกลียด ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ใกล้ ถ้าลอกเนื้อออก จะแลเห็นไส้ใหญ่ ไส้น้อย ปอด กระเพาะอุจจาระ กระเพาะปัสสาวะ และม้าม ไต น้ำเลือด น้ำเหลืองน้ำหนอง เสลด หลั่งไหลอยู่ทั่วร่างกาย มองแล้วอยากจะอาเจียนมากกว่าน่ารัก ถ้าจะฉีกกระเพาะ
ออก ภายในกระเพาะจะพบอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ภายใน เป็นภาพที่อยากหนีมากกว่าเป็นภาพที่น่ารักถ้าเอาอวัยวะต่าง ๆ ออกหมด จะเห็นแต่ร่างโครงกระดูกที่มีสภาพเหมือนโครงบ้านเรือนตั้งตระหง่านอยู่ โครงกระดูกทั้งสองร้อยท่อนนี้ ปะติดปะต่อกันอยู่เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ มีเนื้อและเลือดติดเกรอะกรัง ท่านคิดตามไป  ท่านเห็นหรือยังว่า ส่วนที่มีเปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า พอจะเป็นของสวยของงามมีนิดเดียวคือ ตอนหนังกำพร้าเท่านั้น  หนังนี้ใช่ว่าจะเกลี้ยงเกลาเสมอไปก็หาไม่ ต้องคอยชำระล้าง
ตลอดวันและเวลาเพราะสิ่งโสโครกภายในพากันหลั่งไหลมาลบเลือนความผุดผ่องของผิวตลอดวันถ้าไม่คอยชำระล้าง เจ้าตัวปฏิกูลนั้นก็จะพอกพูนเสียจนเลอะเทอะ แถมจะส่งกลิ่นเหม็นสาบเหม็นสางตลบไปทั่วบริเวณช่องทวาร อุจจาระ ปัสสาวะ ก็จะพากันหลั่งไหลออกมาตามกำหนดเวลาที่มันต้องออก สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้นิยมตนเองว่าสวย หรือเทิดทูนใครก็ตามว่าสวย  ต่อเมื่อสิ่งโสโครกหลั่งไหลออกมาเขากลับไม่สนใจ ไม่พยายามมองหาความจริงจากของจริง  กลับรอให้ชำระล้างสิ่งโสโครก
เสียก่อน จึงใคร่ครวญและสนใจ ต่างคนต่างพยายามหลบหลีก ไม่รับรู้ความเป็นจริงของสังขารร่างกายในส่วนที่สกปรกโสโครก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้  ทั้งๆ ที่อุจจาระหลั่งไหลออกมาทุกวัน เหงื่อไคลมีเสมอ เสมหะน้ำลายออกไม่เว้นแต่ละนาที แต่เจ้ากิเลสและตัณหามันก็พยายามโกหกมดเท็จ ปัดเอาความจริงออกมาจากความรู้สึก  หากทุกคนพยายามสอบสวน ทบทวนความรู้สึกค้นคว้าหาความจริง  ยอมรับรู้ตามกฎของความจริงว่า สังขารร่างกายนี้ไม่มีอะไรน่ารัก มีสภาพเป็น
ส้วมเคลื่อนที่ เพราะภายในมีสิ่งโสโครกต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารัก เราก็รักส้วม ถ้าเราประคับประคองเราก็ประคับประคองส้วม ถ้าเราเทิดทูน เราก็เทิดทูนส้วม จะว่าส้วมปกติเลวแล้วความจริงส้วมปกติดีกว่าส้วมเคลื่อนที่มาก เพราะส้วมปกติมันตั้งอยู่ตามที่ของมัน มันไม่ไปรบกวนใคร  เราไม่เดินเข้าใกล้ มันก็ไม่มาหาเรา ไม่รบกวนไม่สร้างทุกข์ ไม่หลอกหลอน ไม่ยั่วเย้ายียวนชวนให้เกิดราคะ แต่เจ้าส้วมเคลื่อนที่นี่มันร้ายกาจ เราไม่ไปมันก็มา เราไม่มองดูมันก็พูดให้ได้ยิน เสแสร้งแกล้งตกแต่งปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดด้วยสีผ้าที่หลาก กลบกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นหอม หาอาภรณ์มาประดับ เพื่อปกปิดพรางตากันเห็นสิ่งที่ไม่น่าชม เพื่อตาจะได้หลงเหยื่อติดในอาภรณ์เครื่องประดับ ผู้เห็นที่ไร้การพิจารณา  และมีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน เป็นส้วมที่ไร้ปัญญาเหมือนกัน  ต่างส้วมต่างก็หลอกหลอนกัน ปกปิดสิ่งโสโครกมิให้กันและกันเห็นความจริงทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีครบถ้วนแทนที่จะเห็นตัว รู้ตัวว่า ข้านี้ก็เป็นผู้เลิศในความเหม็น เลิศในส่วนของความสกปรกเหมือนเธอแทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับปกปิดพยายามชมตนเองว่า ฉันนี่แหละยอดผู้ศิวิไลซ์ละ อนิจจา น่าสงสารสัตว์ผู้เมาไปด้วยกามราคะ มีอารมณ์หน้ามืดตามัวเพราะอำนาจกิเลสแท้ ๆ ถ้าเขาจะมองตัวเองสักนิดก็จะเห็นตัวเอง และจะมองเห็นผู้อื่นตามความเป็นจริง พระอริยเจ้าท่านนิยมความจริง รู้จริง เห็นจริง ค้นคว้าจริง ไม่หลอกหลอนตนเอง ท่านจึงได้บรรลุมรรคผล เพราะพิจารณาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ขอท่าน
นักปฏิบัติเพื่อความสุขของตัวทั้งหลาย จงพิจารณาตนเองให้เห็นชัด จนได้นิมิตเป็นปฏิภาคนิมิต สร้างสมาธิให้เป็นอัปปนาสมาธิ โดยพิจารณาสังขารให้เห็นว่าไม่สวยงามนี้ เมื่อถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จงยึดสีที่ปรากฏในร่างกายมีสีแดงเป็นต้นหรือจะเป็นสีอะไรก็ได้ยึดเอาเป็นอารมณ์กสิณ ท่านจะได้ฌานที่ ภายในเวลาเล็กน้อย ต่อไปก็ยึดสังขารที่ท่านเห็นว่าน่าเกลียดนี้ ให้เห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยงเพราะมีความเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมไปทุกวันเวลาเป็นปกติ ทุกขังเพราะอาศัยที่มันเคลื่อนไปสู่ความทำลาย
ทุกวันเวลา มันนำความไม่สบายกายไม่สบายใจจากโรคภัยไข้เจ็บ และในการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ให้เกิดความเดือดร้อนทุกวันเวลา จึงจัดว่าสังขารร่างกายนี้เป็นรังของความทุกข์ ให้เห็นเป็นอนัตตา เพราะความเสื่อมความเคลื่อนและในที่สุดคือความทำลายขันธ์  เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มันจะต้องเป็นไปตามนั้นเพราะเป็นกฎธรรมดาของขันธ์ จะต้องเป็นอย่างห้ามไม่ได้  บังคับไม่อยู่  ยอมรับนับถือว่ามันเป็นอนัตตาจริง เพราะความเป็นอนัตตา คือ บังคับไม่ได้ของสังขารร่างกายนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปล่อยอารมณ์ในการยึดถือเสีย เพราะจะยึดจะถือเพียงใดก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ สังขาร
ร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าที่มีใจครองหรือไม่มีใจครอง ตราบใดที่เรายังต้องการสังขาร เราต้องประสบความทุกข์  ความทรมาน เพราะสิ่งโสโครกที่เข้าประกอบเป็นขันธ์ เราเห็นสภาพความจริงของสังขารร่างกายนี้ว่า เป็นของโสโครก ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา ควรปลีกตัวออกให้พ้นจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นทุกข์จริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนัตตาจริง ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์  เป็น
ทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการความเกิดอีก เราไม่ปรารถนาชาติภพอีก เพราะชาติความเกิดเป็นแดนอาศัยของความทุกข์ โรคนิทธัง เรือนร่างของขันธ์ ๕ เป็นรังของโรค ถ้าร่างกายไม่มี โรคที่จะเบียดเบียนก็ไม่มี เพราะไม่มีร่างกายให้โรคอาศัย ปภังคุนัง เรือนร่างมีสภาพต้องผุพังถ้าไม่มีเรือนร่าง เรื่องการผุพังอันเป็นเครื่องเสียดแทงใจให้เกิดทุกข์ก็ไม่มี เมื่อร่างไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นอนัตตา เราไม่ต้องการทุกข์ที่มีความเกิดเป็นสมุฏฐาน เราไม่ต้องการความเกิดในวัฏฏะอีก เราต้องการพระนิพพานที่ไม่มีความเกิด
และความตายเป็นแดนเกษมที่หาความทุกข์มิได้ พระนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ท่านที่จะไปสู่พระนิพพานได้ไม่มีอะไรยาก ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายว่าโสโครก ถอนความรักความอาลัยในสังขารเสีย บัดนี้เราปฏิบัติครบแล้ว เราเห็นแล้ว เราตัดความเห็นว่าสวยงามในสังขารได้แล้วเราเชื่อแล้วว่า สังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์ยึดมั่นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เราคือร่างกาย ร่างกายคือเรา ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นของผู้มีอุปาทานเรารู้แล้ว เราเห็นถูกแล้ว คือ เราเห็นว่าสังขารร่างกายไม่น่ารัก มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา  เราคือจิตที่มีสภาพไม่แก่ ไม่ตาย ไม่สลายตัวที่เข้ามาอาศัยร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันเป็นนามธรรม  ๔ อย่าง เป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องจักรกลที่บริหารตนเองโดยอัตโนมัติ ร่างกายนี้ค่อยเจริญขึ้นและเสื่อมลง มีการสลายตัวไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ตัด ฉันทะ ความพอใจในสรรพสังขารทั้งหมดเสียให้ได้  และให้ตัด ราคะ คือความกำหนัดยินดีในสรรพสังขารทั้งหมด  คือ ไม่ยึดอะไรเลยในโลกนี้ว่า เป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีอะไรในเรา เราไม่มีในอะไรทั้งสิ้น เราคือจิตที่มีคุณวิเศษดีกว่าอัตภาพทั้งปวง เราเกลียดสรรพวัตถุทั้งหมด เราไม่ยอมรับสรรพวัตถุ
แม้แต่เรือนร่างที่เราอาศัยนี้ว่าเป็นของเราและเป็นเรา เราปล่อยแล้วในความยึดถือ แต่จะอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อสร้างสรรค์ความดี สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องของสังขาร  สังขารร่างกายจะผุพังก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย  เราไม่รับรู้รับทราบ เราว่างแล้วจากภาระในการยึดถือ เรามีความสุขแล้ว เรามีพระนิพพานเป็นที่ไปในกาลข้างหน้า สร้างอารมณ์ ความโปร่งใจให้มีเป็นปกติ ยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทำจนเป็นปกติ จิตยึดความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจนเป็นปกติ เห็นอะไร ได้อะไรมา
คิดเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ของเราจริง เขาให้ก็รับ เพื่อเกื้อกูลแก่อัตภาพชั่วคราว ไม่ช้าก็ต่างคนต่างสลาย ทั้งของที่ได้มาและอัตภาพ ใครไปก่อนไปหลังกันเท่านั้น จนอารมณ์มีความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ จิตก็จะว่างจากอุปาทาน ในที่สุดก็จะถึงพระนิพพานสมความมุ่งหมาย                                                                                                                                                                                                                                               (อธิบายในกายคตานุสสติโดยย่อพอได้ความ ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้)

Pages