เรื่องควรรู้ พระโพธิญาณ ความบังเอิญหรือฟ้าลิขิต

เรื่องควรรู้ พระโพธิญาณ ชื่อนั้นสำคัญไฉน เป็นความบังเอิญ หรือฟ้าลิขิต

บทความนี้ เขียนบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทางณกุศลไม่ได้บังคับ

1. เรื่องชื่อของ พระประธานในโบสถ์ ยุค ปี พ.ศ.2539

ในเดือน พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2539 อ.เทพ เกษมพรรณราย ได้ลาหยุดงาน 1 เดือน เพื่อบวชทดแทนคุณบิดามารดา โดยเลือกสถานที่ในการบวชและปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิที่ วัดหนองเลา จ.มหาสารคาม

ในช่วงที่บวชนั้น ที่วัดหนองเลามีพระลูกวัด 2 รูปที่คุ้นเคยกัน คือ หลวงพี่นะ หลวงพี่เอ้บ ที่เรียกสรรพนามเป็นหลวงพี่ คือ นับตามอายุการบวช แต่หากนับตามอายุจริง หลวงพี่ทั้งสองรูปก็อายุพอๆกับ หลานคนโตของ อ.เทพ

หลวงพี่เอ้บ ในภายหลังได้ข่าวว่า ไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพด้านสายตาทำงานด้านเอกสารไม่สะดวกจึงกลับมาอยู่วัดหนองเลา เมื่ออายุมากแล้วชาวบ้านเรียกท่านว่า หลวงปู่เอ้บ ท้ายสุดเห็นข่าวและรูปภาพจากใน facebook ว่าหลวงปู่เอ้บมรณภาพเสียชีวิตแล้ว

ส่วนหลวงพี่นะ หลังจากรับหน้าที่เป็น พระเลขาของเจ้าอาวาส งานยุ่งมาก สุดท้ายมีเหตุให้ลาสึกออกมาเป็นฆารวาส และไม่ทราบข่าวคราว

สมัยนั้น ชาวบ้านและพระสงฆ์ในวัดจะเรียกพระประธานในโบสถ์ว่า " หลวงพ่อใหญ่ "

แต่ความสับสนอย่างหนึ่ง คือ เวลาเรียกสรรพนามแทนเจ้าอาวาส ก็เรียก หลวงพ่อใหญ่ " ด้วยเช่นกัน

อ.เทพ ก็เลยถามพวกหลวงพี่ว่า " เวลาหลวงพี่พูดว่า หลวงพ่อใหญ่ แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่า หลวงพี่หมายถึง พระประธานในโบสถ์ หรือ หมายถึง เจ้าอาวาส "

หลวงพี่นะ ก็ว่า " เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ต่อไปเรียกเจ้าอาวาสว่า " หลวงพ่อเงิน " ส่วนพระประธานก็เรียก " หลวงพ่อใหญ่ " เหมือนเดิม

 

2. ชื่อของ พระประธานในโบสถ์ ยุคเว็บไซต์ และ หนังสือ สิ่งพิมพ์

เหตุการณ์นี้จำปี พ.ศ.ที่แน่นอนไม่ได้ สมัยนั้น อ.เทพ ก่อตั้งเว็บไซต์ณกุศลขึ้นมาแล้วเป็นเวลานานหลายปี วันหนึ่งมีโอกาสแวะไปทำบุญที่วัดหนองเลา และได้รับบันทึกข้อมูลที่เจ้าอาวาสเขียนสรุป ประวัติของวัดหนองเลา จึงได้ขออนุญาตนำมาเขียนลงในเว็บไซต์ณกุศล

โดยข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ณกุศล ทางณกุศลได้เขียนข้อมูล เพิ่มเติม ลงไปด้วยหลายอย่าง แต่มีข้อมูลอยู่อย่างน้อย 2 อย่างที่ หากใครคัดลอกข้อมูลจากเว็บณกุศลไป ทางเราจะรู้ทันทีว่าลอกไปจากทางณกุศล พูดภาษาชาวบ้านแบบง่ายๆ คือ เราวางยาไว้อย่างน้อยสองจุดด้วยกัน

จุดวางยาที่หนึ่ง

หนึ่งในข้อมูลที่ ณกุศล ตั้งใจเขียน เปลี่ยนแปลง คือ ชื่อของพระประธานในโบสถ์ หากใครได้ข้อมูลจากคนในท้องถิ่นควรจะต้องเรียกว่า " หลวงพ่อใหญ่ " หรือคำที่ใกล้เคียงกัน แต่ณกุศล เขียนในบทความที่เว็บไซต์ณกุศลโดย ถวายพระนามให้ท่านใหม่ว่า " พระโพธิญาณ " ซึ่งในยุคสมัยนั้น ไม่มีใครเรียกชื่อพระประธานในโบสถ์วัดหนองเลาว่า พระโพธิญาณ 

ชื่อพระนาม พระโพธิญาณ นั้นทางณกุศล นำมาจาก ชื่อรุ่นของพระเครื่องที่ อ.เทพ สร้างไว้ในปี พ.ศ.2542 นั่นเอง ... เพื่อให้ ชื่อของพระประธาน และ ชื่อรุ่นของพระเครื่องซึ่งเป็นรูปแบบจำลองของพระประธาน มีชื่อที่สอดคล้องกัน

3 เหตุการณ์ กลยุทธ ป่าล้อมเมือง ... ความบังเอิญ หรือ ฟ้าลิขิต

1. ปรากฎว่าหลังจากนั้น มีหลายเว็บไซต์ได้คัดลอกบทความที่ณกุศลเขียนไว้ จึงเป็นการเผยแพร่กระจายข้อมูลออกไปในวงกว้างว่า พระประธาน วัดหนองเลา นามว่า พระโพธิญาณ

2. ปรากฎว่าหลังจากที่ ณกุศลเขียนเผยแพร่ข้อมูลของ พระเครื่องรุ่นพระโพธิญาณ ที่จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2542 มีนักขายพระเครื่องหลายคนได้เดินทางไปวัดหนองเลา โดยหวังว่าที่วัดจะมีพระเครื่องหลงเหลือให้เช่าบูชา เพื่อนำมาขายต่อทำกำไร ... บรรดานักขายพระเครื่องเหล่านี้ ล้วนเรียกชื่อพระประธานในโบสถ์ว่า พระโพธิญาณ ตามข้อมูลที่ณกุศลเคยเขียนไว้ และ นำไปพูดคุยกับทางวัดด้วยชื่อนี้เช่นกัน

3. ปรากฎว่ามี หนังสือเล่มหนึ่ง รวบรวมเรื่องวัดในประเทศไทย พิมพ์จัดจำหน่าย และภายในมีเนื้อหาของวัดหนองเลา โดยระบุชื่อพระประธานว่า ชื่อ หลวงพ่อพระโพธิญาณ และมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่ณกุศลเคยเขียนเพิ่มเติมไว้  เรื่องนี้น่าชื่นชมในความตั้งใจ การพยายามรวบรวมข้อมูลจากหลายๆที่ และสามารถเขียนเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของตัวเอง อธิบายในรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมได้ดี ... เพียงแต่น่าสงสัยว่ามีการลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ ... ที่น่าสนใจคือมีพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับวัดหนองเลาใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการประชาสัมพันธ์ประวัติของวัด ... หมายความว่าชื่อ หลวงพ่อพระโพธิญาณ นั้นเป็นที่ยอมรับของคนทางวัดเช่นกัน 

เรื่องเหล่านี้ ณกุศลเคยเล่าให้ พี่ชายและพี่สะใภ้ฟังและสรุปว่า เดี๋ยวนี้คนเค้าเรียกชื่อพระประธานในโบสถ์ว่า พระโพธิญาณกันแล้ว พี่ชายฟังแล้วก็เงียบๆ แต่พี่สะใภ้รีบดุเลยว่า  " ทำอะไรไม่เข้าเรื่อง  "

มีคนกล่าวกันว่า " ความบังเอิญไม่มีในโลก " ดังนั้น ณกุศล บอกได้เพียงว่า คงเป็นฟ้าลิขิต หรือเจตจำนงค์ของสิ่งศักดิสิทธิ์ ที่ทำให้พระนามของพระประธานถูกเรียกเปลี่ยนจากเดิมเป็นชื่อใหม่ คือ พระโพธิญาณ โดยเป็นที่ยอมรับทั่วกัน ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

ณ ปัจจุบัน ณกุศลเองก็ไม่แน่ใจว่า จะเหลือคนมากน้อยแค่ไหนที่ยังเรียก พระประธานว่า หลวงพ่อใหญ่ .... เห็นข้อมูลใน facebook นักสะสมพระเครื่องรุ่นใหม่บางคนถึงกับบรรยายลักษณะ พระงาแกะรุ่นเก่า ยุคสมัยหลวงปู่ทอง อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองเลาว่า ภายในซุ้มพระงาแกะคือ พระโพธิญาณ เห็นแล้วก็แปลกใจว่า พระปางมารวิชัย เขาก็เรียกว่า พระโพธิญาณ ด้วยเช่นกัน ... เพี้ยนลามกันไปถึงขนาดนั้นแล้ว

โดยส่วนตัว ณกุศล มองว่า ใครจะเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ ... ใครจะเรียกว่า พระโพธิญาณ ... ใครจะเรียกว่า พระประธานในโบสถ์ .... ทั้งหมดก็หมายถึง พระองค์เดียวกัน ... ต่างกันแค่ว่า ใครจะเรียกอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่า ใครถูกหรือผิด

เขียนบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทางณกุศลไม่ได้บังคับ

ใครทิฐิมานะสูง ยอมรับความจริงไม่ได้ ณกุศลไม่ได้บังคับ 

จุดวางยาที่สอง ณ ตอนนี้ณกุศลยังไม่เขียนเปิดเผยข้อเท็จจริง ส่วนนี้ได้รับการคัดลอกตีพิมพ์ลงในหนังสือด้วยเช่นกัน แต่บางทีณกุศลอาจจะปล่อยไปเรื่อยๆโดยไม่เขียนอะไรเลย เก็บไว้ดูว่า ใครจะเป็น Guru ผู้รอบรู้ตัวจริง หรือเพียงมั่วนิ่ม

พระโพธิญาณ ปี พ.ศ. 2542

พระโพธิญาณ อ.เทพ เกษมพรรณราย

พระโพธิญาณ ปี พ.ศ.2542 

ผู้ออกแบบ ดำเนินงาน และ ออกทุนทรัพย์ในการจัดสร้างทั้งหมด คือ อ.เทพ เกษมพรรณราย

จัดสร้างในปี พ.ศ.2542 โดยได้รับอนุญาตจาก หลวงพ่อเงิน เจ้าอาวาสวัดหนองเลา ในการจัดสร้าง

อ.เทพ ผู้จัดสร้าง ได้กำหนดชื่อพระเครื่องรุ่นนี้ว่า รุ่น พระโพธิญาณ

พระเครื่องในรุ่นนี้ มีทั้งพระเนื้อผง และ พระกริ่งเนื้อโลหะอุดกริ่งอุดผง จัดสร้างโดยนำ พระประธานในโบสถ์ของวัดหนองเลามาเป็นต้นแบบในการจัดสร้าง และมีวาระที่น่าสนใจกล่าวถึง คือ เป็นครั้งแรกในรอบ 200 กว่าปี ของวัดหนองเลา ที่มีการสร้างพระเครื่องเป็นรูปเหมือนของพระประธานในโบสถ์วัดหนองเลา และออกให้ทำบุญในนามวัดหนองเลา

( ความจริง การสร้างพระเครื่องโดยใช้ต้นแบบจากพระประธานในโบสถ์วัดหนองเลา มีการสร้างครั้งแรกสุด ในปี พ.ศ.2541 โดย อ.เทพ เกษมพรรณราย เป็นผู้จัดสร้าง ... แต่พระเครื่อง ปี 2541 ในระหว่างฝากเสกอธิษฐานจิตที่วัดแห่งหนึ่ง ถูกกลุ่มกรรมการวัดแห่งนั้นวางแผนขโมยไปทั้งหมด เพื่อนำไปจำหน่ายหาเงินรายได้เข้ากระเป๋า พระรุ่น ปี 2541 จึงไม่ถูกนับว่าเป็นพระเครื่องที่ออกในนามวัดหนองเลา ในรายละเอียด ณกุศลได้เขียนบันทึกไว้ที่ http://www.nakusol.com/node/457 หลังจากนั้น อ.เทพ จึงได้สร้างพระรุ่นปี 2542 ขึ้นมา โดยออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ซ้ำแบบเดิม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความสวยงามลงตัวมากกว่ารุ่น 2541 เพื่อทดแทนพระเครื่องที่ถูกขโมยไป )

เมื่อจัดสร้างพระรุ่น ปี พ.ศ.2542 เสร็จแล้ว ได้มีการแบ่งพระเครื่องออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของการจัดสร้าง คือ

1. พระโพธิญาณ ชุดถวายวัด คือ ส่วนที่แจกผู้ร่วมทำบุญ งานกฐิน วัดหนองเลา ปี พ.ศ.2542 และจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของการจัดสร้าง ได้นำถวายให้วัดหนองเลา ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้ทางวัดเก็บไว้แจกให้ผู้ทำบุญกับวัดในวาระต่างๆตามความเหมาะสม  พระชุดนี้ ณกุศล ขอเรียกอ้างอิงตาม ปี พ.ศ. ที่จัดสร้าง ว่า " พระโพธิญาณ 2542 "

2. พระโพธิญาณ ชุดพิเศษ จำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของการจัดสร้าง อ.เทพ ได้นำเข้ารับการอธิษฐานจิตจาก หลวงปู่ทองดำ บรมครูสายณกุศล ยาวนานตลอดไตรมาส พ.ศ.2542 หรือ ค.ศ.1999 หลังจากนั้นได้เก็บรักษาไว้ และนำเข้ารับการอธิษฐานจิตบรรจุสรรพวิชาเพิ่มเติมจากหลวงปู่ทองดำ เป็นระยะๆ ตลอดช่วงเวลาประมาณ 20 ปี จวบจนหลวงปู่ทองดำมรณภาพ กล่าวได้ว่า เป็นพระเครื่องที่สร้างด้วยใจที่ศรัทธาอย่างแท้จริง ไม่ได้สร้างเชิงพุทธพาณิชย์ ใช้เวลาในการทยอยอธิษฐานจิตยาวนานเกือบ 20 ปี เน้นเสกเดี่ยวองค์เดียวล้วนๆแต่เสกหลายครั้งหลายรอบ เฉพาะไตรมาสเดียวก็ต้องมีอย่างน้อย 180 ครั้งขึ้นไป ในช่วงเวลา 20 ปี ถ้าจะกล่าวว่า เสกกันนับพันครั้ง ก็ไม่เกินความจริง ... เป็นพระเครื่องที่บรรจุสรรพวิชาของหลวงปู่ทองดำในช่วงเวลาเกือบตลอดชีวิตของท่าน อย่างครบถ้วนมากที่สุด  รวมระยะเวลาการเสกนานที่สุด และ จำนวนครั้งในการเสกมากที่สุด พระชุดพิเศษนี้ไม่สามารถหาได้จากตลาดพระเครื่องทั่วไป ณกุศล เรียกอ้างอิงตามชื่อของผู้อธิษฐานจิตว่า " พระโพธิญาณ หลวงปู่ทองดำ "

พระเครื่อง 2 ชุดนี้ จะมีความแตกต่างกันในด้านพุทธคุณ เนื่องจากผ่านการเสกอธิษฐานจิตแตกต่างกัน กล่าวคือ ชุดพระโพธิญาณ 2542 ในด้านพุทธคุณ ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทน ชุดพระโพธิญาณ หลวงปู่ทองดำได้ 

ในส่วนของการบันทึกนั้น ณกุศลจะเน้นในส่วนของ พระโพธิญาณ หลวงปู่ทองดำ เป็นหลัก เนื่องจากทุกเรื่องราวอยู่ในขอบเขตที่ทางณกุศลสามารถรับรู้ได้

ในส่วนที่ถวายวัดนั้น หลังจากถวายไปแล้ว ทราบว่า พระหมดจากวัดภายในเวลาไม่นาน และ ส่วนมากจะไปอยู่ในต่างประเทศ โดยทางวัดได้รับเงินบริจาคจำนวนมากจากต่างประเทศ ... การที่ณกุศลจะติดตามบันทึกเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆของพระชุดนี้ นอกจากความยากลำบากด้วยระยะทางที่ห่างไกลแล้ว ยังไม่เกิดประโยชน์ที่เป็นสาระสำคัญกับทางวัด เพราะที่วัดไม่มีพระเครื่องชุดนี้เหลือแล้ว ดังนั้นณกุศลจะไม่เน้นการบันทึกในส่วนนี้ 

 

 

สายณกุศล

สายณกุศล

คำว่า สาย มีความหมายอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ " ที่ไปที่มา " เช่น การสืบเชื้อสายของวงศ์ตระกูล การสืบเชื้อสายของสำนักวิชา หรือ  สายแนวทางการปฏิบัติธรรมต่างๆ

เมื่อบุคคลหนึ่งกล่าวว่าเขาปฎิบัติธรรมสายไหน  คนก็จะทราบคร่าวๆถึงพื้นฐานหรือแนวทางของบุคคลนั้น เช่น สายพุทโธ สายธรรมกาย สายมโนมยิทธิ แต่ละสายก็จะมีรายละเอียดในแนวทางฝึกปฏิบัติที่แตกต่างกัน 

เนื่องจาก ณกุศลได้ผ่านการศึกษาองค์ความรู้จาก หลายศาสนา หลายแนวทาง หลายครูบาอาจารย์ การที่ณกุศลจะกล่าวออกตัวว่าเป็นศิษย์สายนั้นสายนี้ ถึงแม้จะไม่ผิดเพราะได้รับการถ่ายทอดวิชามาจริง ... แต่ก็อาจจะไม่เหมาะสม เพราะณกุศลไม่ได้ยึดติดกับสายใดสายหนึ่งแบบเต็มร้อย ยังคงรักษาสมดุลย์ของทางโลกและทางธรรมไปด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสม บางสายวิชาเหมาะกับทางโลก บางสายวิชาเหมาะกับทางธรรม ... จึงเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต

ดังนั้นเพื่อความเหมาะสม ไม่ไปกระทบขัดแย้งอะไรกับสายไหน ไม่ไปโหนกระแสความโด่งดังอะไรกับใคร ทางณกุศลจึงเรียกแนวทางที่ณกุศลเลือกเดินว่า สายณกุศล ตามแบบ I Did It My Way 

สายณกุศล คือ แนวทางที่เราเลือกในการดำเนินชีวิตเพื่อความสมดุลย์แห่งโลกและธรรม เป็นแนวทางที่ณกุศลได้เรียนรู้ฝึกฝนผ่านประสบการณ์จริงด้วยตนเอง จนเกิดศรัทธาและมั่นใจในคุณประโยชน์และความขลังศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ต่างๆ

ในบทความที่ ณกุศล เขียนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสายวิชาที่หายาก ผู้อ่านไม่ควรเสี่ยงไปแสวงหา มีแต่จะโดนคนหลอกลวงเอาโดยง่าย เรียกได้ว่า 100 ครั้ง ก็จะโดนหลอกลวง 100 ครั้ง ในยุคสมัยนี้คนประเภท " มือถือสาก ปากถือศีล เอาคุณธรรมบังหน้า " มีมากมายจนคาดคิดไม่ถึง ... หลายคนหน้าฉากเล่นละครตบตาคนได้อย่างแนบเนียน แต่หลังฉากทำแต่เรื่องต่ำทราม

เพื่อความปลอดภัย หากจะให้ณกุศลแนะนำ สายปฏิบัติที่ดีและสามารถเข้าศึกษาได้ง่าย ขอแนะนำสาย สติปัฏฐาน 4 ... ในสมัยที่ หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงหบุรีย์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น ณกุศลได้เคยไปเข้ากรรมฐาน 7 วันที่วัดอัมพวันอยู่บ่อยครั้ง การฝึกสติเป็นแนวทางที่มีประโยชน์อย่างมากและใช้ได้ผลจริงในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ณกุศลจะไม่เน้นเขียนกล่าวถึงเนื่องจากในสายนี้มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆไว้มากมายให้ศึกษาอยู่แล้ว

 

Pages